กินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ ระวังเป็น’โรคไข้หูดับ’ 5 เดือนป่วย 122 ราย เสียชีวิต 8 ราย

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. เปิดเผยว่าประชาชนที่ชอบรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบ หรือปรุงดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบหมู หลู้ ส้าดิบ มีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้หูดับ หูพิการถาวรทั้ง 2 ข้าง ข้อมูลในปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 3 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วย 122 ราย ใน 19 จังหวัด เสียชีวิต 8 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณร้อยละ 70 มีอาชีพรับจ้างและทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อจะไปทำลายอวัยวะภายในและระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ ที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ และเสื่อมอย่างรุนแรง หูหนวกตลอดชีวิต และยังพบอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง โดยจะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ3-5 วัน

นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า อาการที่พบบ่อยดังนี้คือมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียนคอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีอัตราเสียชีวิตได้ร้อยละ 5-20 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว โรคนี้รักษาหายขาดได้ ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรักษา จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการป่วยดังที่กล่าวมา หลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที

“การป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ ประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า 2.ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ 3.ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือดิบๆ สุกๆ ถ้าหากสัมผัสกับเนื้อหมูนานๆ ควรรีบล้างมือทันที ในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในเล้าหมู ฟาร์มหมู ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงานในเล้าหรือในฟาร์มหมู หลังปฏิบัติงานเสร็จให้อาบนำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการสัมผัสหมู หากจำเป็นต้องใส่ถุงมือยางป้องกัน ประการสำคัญห้ามนำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละอย่างเด็ดขาด และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดฟาร์มเลี้ยงหรือเล้าให้สะอาด” รองปลัด สธ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image