กทม.เตรียมอัฒจันทร์ รองรับปชช.รับเสด็จทางชลมารค เปิด 19 จุดคัดกรอง บริการรถไฟ-ชัตเติลบัสฟรี

กทม.เตรียมอัฒจันทร์ รองรับปชช.รับเสด็จทางชลมารค เปิด 19 จุดคัดกรอง บริการรถไฟ-ชัตเติลบัสฟรี

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพฯ กรมประชาสัมพันธ์ จัดแถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับมอบหมายในการสนับสนุนการจัดเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้แก่ จัดพื้นที่สำหรับประชาชน ประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดจนปรับภูมิทัศน์ในสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และถนนตลอดเส้นทางเสด็จฯ โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการล้างทำความสะอาด ทาสี ทั้งริมเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ทั้งยังจัดเตรียมผ้าระบายสีขาว-เหลือง ธงประดับ ในการประดับอาคารบ้านเรือน จุดสำคัญ และธงสัญลักษณ์ ธงโบก สำหรับแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาร่วมพระราชพิธีในบริเวณจุดคัดกรอง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดเก็บมูลฝอยและวัชพืชในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงน้ำหลากจะมีวัชพืช เช่น ผักตบชวา เป็นจำนวนมาก จึงต้องระดมพลและเรือกว่า 150 ลำ ในการดำเนินการจัดเก็บวัชพืชและขยะให้เรียบร้อย ส่วนการตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ จะเริ่มดำเนินการในอีก 2 – 3 วันข้างหน้า และการประดับไฟบนสะพานพระราม 8 และถนนราชดำเนินทั้งหมด อยู่ระหว่างการติดตั้ง จะเปิดใช้ตั้งแต่ 15 ตุลาคม เป็นต้นไป ประชาชนสามารถไปชมความงดงามและร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้

รองปลัดกทม. กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะมาร่วมพระราชพิธี กทม.ได้จัดเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่ไว้ให้บริการเสริมในจุดที่มีสุขาสาธารณะไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันในบางพื้นที่่ที่รถสุขาเข้าไม่ได้ ก็จะประสานไปยังบ้านเรือนในพื้นที่ในการให้บริการสุขา และมีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน บริการอาหารและน้ำดื่ม จำนวน 7 จุด ได้แก่ วัดสามพระยา, สนามหลวง, สวนนาคาภิรมย์, วัดอมรคีรี, วัดอมรินทรารามวรวิหาร, วัดกัลยาณมิตร และริมคลองหลอดวัดราชนัดดา ตลอด 3 มื้ออาหาร ทั้งนี้ กทม. ได้จัดสร้างพื้นยกระดับ และอัฒจันทร์ ซึ่งรองรับประชาชนได้ทั้งหมด 10,700 คน ใน 6 จุด ได้แก่ ลานใต้สะพานพระราม 8, สวนสันติชัยปราการ, สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา, โรงพยาบาลศิริราช, ม.ธรรมศาสตร์ และนาคราภิรมย์ ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จในพื้นที่สาธารณะอีก 13 แห่ง รองรับประชาชนได้ 15,600 คน อาทิ ท้ายซอยจรัญ 52,ท่าเรือวัดราชานิวาส, สวนสามพระยา, ใต้สะพานพระราม 6, ลานรับน้ำท่าเรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง, ทางเดินสวนสันติฯ, ถนนมหาราช, และวัดระฆังโฆสิตาราม รวมไปถึงสถานที่เอกชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 6,000 คน

นอกจากนี้ กทม. ยังได้เข้าไปจัดทำแท่นอาสน์เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำพิธีเจริญชัยมงคลคาถาขณะที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนผ่าน ทั้งหมด 6 วัด ได้แก่ ฝั่งพระนคร วัดราชาธิวาสวิหาร, วัดเทวราชกุญชร, วัดสามพระยา และฝั่งธนบุรี ได้แก่ วัดบวรมงคล, วัดคฤหบดี และวัดระฆังโฆสิตาราม รวมทั้งติดตั้งจอแอลอีดีทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 20 จุด 28 จอ เพื่อถ่ายทอดสดพระราชพิธี ให้ประชาชนที่ร่วมเฝ้ารับเสด็จได้ชื่นชมความงดงาม และพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างทั่วถึง

Advertisement


พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวว่า การอำนวยความสะดวกประชาชนในต่างจังหวัดที่จะการเดินทางเข้าร่วมงานพระราชพิธี โดยการรถไฟจัดขบวนพิเศษเพิ่มโบกี้เข้ากรุงเทพฯ โดยมีจุดบริการ 4 ทิศ ได้แก่ ทิศตะวันตก จ.นครปฐม ทิศเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา และทิศใต้ จ.สมุทรสาคร โดยให้บริการฟรี เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ มีชัตเติลบัสบริการประชาชนเข้าพื้นที่พระราชพิธี สถานที่จุดส่งลงชัตเติลบัส มี 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 มทร.พระนครและใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งพระนคร) โซน 2 ลานจอดรถกองสลาก, สนามหลวงฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) โซน 3 แยกท่าเตียน โซน 4 ถนนอรุณอมรินทร์ 36 (ใต้สะพานพระราม 8) โซน 5 สถานีรถไฟธนบุรี และโซน 6 วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าวต่อว่า สำหรับจุดจอดรถรอบนอกและกรุงเทพฯ ชั้นกลาง จัดเตรียมพื้นที่รวม 24 จุด รองรับได้ 26,000 คัน ทิศเหนือ เมืองทองธานี, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสโมสรตำรวจ ทิศใต้ ลานพุทธมณฑล สาย 5, เซ็นทรัลศาลายา, เซ็นทรัลพระราม 2, ร.ร.บางมดวิทยา และวิทยาลัยทองสุข ทิศตะวันออก พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง, เมกะบางนา, อิเกีย บางนา และไบเทค บางนา ทิศตะวันตก เซ็นทรัลเวสต์เกต และอาคารจอดรถบางรักน้อยท่าอิฐ ขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ประชาชนจอดรถได้ที่อู่จอดรถบรมราชชนนี, สำนักงานอัยการสูงสุด, ศาลอาญารัชดา, อาคารจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา, ลานจอดรถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดา, สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์, แอร์พอร์ตลิ้งค์มักกะสัน, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 และท่าเรือคลองเตย

พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้าชมขบวนเรือจะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อผ่านจุดคัดกรอง รวม 19 จุดคัดกรอง ได้แก่ มทร.พระนคร ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร พิพิธบางลำพู ทางเข้าม.ธรรมศาสตร์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง ด้านม.ธรรมศาสตร์ สนามหลวงด้านศาลฎีกา ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร ท่ามหาราช ท่าช้าง แยกท่าเตียน หน้าวังสราญรมย์ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี ทางเข้าท่ารถไฟ อุทยานสถานพิมุข ท่าเรือวังหลัง หน้าวัดระฆังโฆสิตาราม หน้าวัดกัลยาณมิตรวรวิหาร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 120 ชุด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ และจุดบริการทางแพทย์ 35 จุด จัดบริการในแต่ละพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด

Advertisement

พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวถึงการจัดขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค ว่า กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดเตรียมขบวนเรือพระราชพิธีฯ เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือดูแลเรือในพระราชพิธีฯ ทั้งหมด 52 ลำ ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์และอื่นๆ ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากรในการซ่อมแซมและตกแต่งเรือ ประดับกระจก ปิดทอง และเขียนลาย โดยช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากร ในด้านกำลังพล กองทัพเรือได้จัดกำลังพล เป็นกำลังพลฝีพาย 2,200 นาย ซึ่งฝึกซ้อมด้วยกัน 4 ขั้นตอน ทั้งฝึกซ้อมบนบกและในน้ำ เริ่มจาก ฝึกบนเขียง เป็นการฝึกซ้อมท่าพาย หลังจากนั้นจึงทำการฝึกในน้ำ ในเรือฝึกที่ตรึงหัวเรือและท้ายเรือในอ่าง ซึ่งการพายจะเริ่มมีน้ำหนักเพราะมีแรงต้านจากน้ำ กำลังพลจึงได้ฝึกในเรื่องแรงต้านที่เกิดขึ้น ก่อนไปฝึกในพื้นที่จริง เป็นการซ้อมการจัดรูปแบบขบวนเรือเบื้องต้น ตามรูปแบบการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากนั้นจึงฝึกซ้อมย่อยตามเส้นทางเสด็จจริง ระยะทางทั้งหมด 3.4 กิโลเมตร ซึ่งต้องควบคุมเรือให้เป็นขบวนไปตลอดเส้นทาง โดยมีจุดควบคุม 4 จุด คือ อาคารจุลดิศ,หอพักแพทย์, หอธง และป้อมวิไชยประสิทธิ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่หัวขบวนพยุหยาตราฯ จรดท้ายขบวน มีความยาว 1.2 กิโลเมตร

รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า การฝึกซ้อมที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ละครั้งก็มีอุปสรรคทางธรรมชาติที่แตกต่างกันไป ทำให้ฝีพายได้ฝึกซ้อม นอกจากนี้ยังมีขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก แต่ทางกรุงเทพมหานครก็สามารถดำเนินการจัดการ ทำให้ช่วงที่เรือดำเนินผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับการซ้อมครั้งต่อไปเป็นการซ้อมใหญ่ครั้งแรก ในวันที่ 17 ตุลาคม การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ประจำเรือจะเหมือนวันพระราชพิธีจริง เพื่อให้ได้รู้ว่าเมื่อแต่งกายเหมือนวันจริง จะมีอุปสรรคอะไร โดยเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ได้รับการสนับสนุนจากกองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง

พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image