‘วิษณุ’ เผย พระราชพิธีเสด็จฯ ทางชลมารคครั้งนี้ ห่างจากครั้งล่าสุด สมัย ร.7 ถึง 94 ปี (คลิป)

‘วิษณุ’ เผย พระราชพิธีเสด็จฯ ทางชลมารคครั้งนี้ ห่างจากครั้งล่าสุด สมัย ร.7 ถึง 94 ปี (คลิป)

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพฯ กรมประชาสัมพันธ์ จัดแถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวถึงประวัติความเป็นมางานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ว่า ในฐานะเป็นประธานฯ ซึ่งดูแลรับผิดชอบในเรื่องพิธีการทั้งหมด รวมไปถึงพิธีการในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คงต้องกล่าวถึงภาพรวมทั้งหมดอีกครั้ง เพราะตอนนี้มีคนไม่น้อยเข้าใจว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ใกล้เข้ามานี้เป็นอีกห้วงหนึ่ง หรือคนละงาน แต่จริงๆ คือ เป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงต้นและช่วงกลางตั้งแต่ต้นปี

ทั้งนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร แปลตามตัวคือการออกเยี่ยมชมบ้านชมเมือง เพราะในอดีตไม่มีรถ การเสด็จฯ ออกชมบ้านเมืองก็ทำได้สองทาง คือ ทางบก และทางน้ำ ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไม่ใช่อยากทำก็ทำได้เลย เพราะต้องดูเรื่องดินฟ้าอากาศ กระแสน้ำ และกระแสคลื่น ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในพระราชพิธี และการซ่อมแซมตกแต่งพาหนะหรือเรือที่ใช้ในการเสด็จ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการ ทั้งนี้ ในบางรัชกาลสามารถจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค หรือทางบก เพราะกระแสน้ำ กระแสลม กระแสคลื่น และสภาพเรือเอื้ออำนวย จึงแบ่งห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 ห้วง แต่บางรัชกาลจำเป็นต้องแยกออกไปเป็น 3 ห้วง ดังเช่นปัจจุบัน

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า คำว่า พยุหยาตรา มีความหมายว่า การเดินทางไปเป็นกระบวน เพราะฉะนั้น พยุหยาตราทางชลมารค คือการเดินทางเป็นกระบวนทางน้ำ ซึ่งมี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย พยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ใช้เรือจำนวนน้อย และพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ใช้เรือจำนวนมาก ซึ่งเป็นรูปแบบในพระราชพิธีครั้งนี้ ด้วยใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ ห่างจากครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ถึง 94 ปี ด้วยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ใช่การเสด็จฯ เพื่อไปถวายผ้ากฐิน ซึ่งพระราชพิธีครั้งนี้อีกนานกว่าจะมีอีกครั้ง ตนอยากให้ประชาชนได้รับฟังบทเห่เรือ ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในห้วงนั้น ๆ ด้วยในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ละครั้งจะมีบทเห่เรือที่แตกต่างกัน ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากจบการแถลงข่าว กองทัพเรือ ได้ให้กำลังพลฝีพายจัดแสดงสาธิตการเห่เรือให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image