‘ดวงฤทธิ์’ เสวนา ‘เมืองสร้างสุข’ ชี้กรุงเทพฯ เข้ามาแล้วจน เพราะค่ารถสูงมาก แนะให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี 1 เดือนแทน ‘ชิม ช้อป ใช้’

‘เมืองสร้างสุข’ ทำได้ ต้องปรับผัง ถามความเห็นผู้อยู่ เปลี่ยนแนวคิดล่างสู่บน โอนอำนาจให้ท้องถิ่น

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 12 ตุลาคม ที่เวทีกลาง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักพิมพ์มติชน และ broccoli book จัดเสวนา เรื่อง “TALK : HAPPY CITY คิดเรื่องเมืองสุข” ที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็น “พื้นความสุขของทุกๆ คน” โดยมี นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และเจ้าของรางวัลเมืองเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก, นายวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ก่อตั้งเพจ Mayday ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร เชิดธรรมธร

โดยก่อนเริ่มการเสวนาผู้ดำเนินรายการได้สอบถามมุมมองของผู้ฟังว่า เมืองที่มีความสุขควรจะเป็นอย่างไร โดยบางส่วนให้ความเห็นว่า คือ การใช้ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในการใช้ชีวิต มีความอบอุ่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีวินัย และคมนาคมดีกว่านี้

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า แฮปปี้ซิตี้ ตามอุดมคติของเมืองตะวันตกและตะวันออกไม่เหมือนกัน การแลกเปลี่ยนความเห็นสำคัญ ปัจจุบันพื้นที่แลกเปลี่ยนของเราคือเฟซบุ๊ก หรือไลน์กรุ๊ป แต่ไม่ใช่พื้นที่เชิงกายภาพ ในต่างประเทศจะมีลาน สวนสาธารณะ งานหนังสือ งานแสดงสินค้า เป็นที่ให้คนมาเจอกัน แต่สำหรับตนแฮปปี้ซิตี้จะแปรเปลี่ยนไปตามสังคม ตามกายภาพของเมือง เพราะรับเราของตะวันตกไม่ได้ทั้งหมด

Advertisement

“ด้วยถูกฝึกให้เป็นสถาปนิก เราคิดว่าจะออกแบบเมืองได้อย่างฝรั่ง พอเริ่มแก่ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ เมืองในอุดมคติ ตามตำรา ต้องทำไปตามนี้เปะๆ นั่นคือความคิดแบบท็อปดาว หรือ บนลงล่าง วิธีที่เรามองเห็นคือ มาจากข้างล่างเสมอ มาจากการเดินไปบนถนนแล้วเห็นอะไรบางอย่างแล้วนำมาต่อยอด

สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา คือ เมืองควรออกแบบอย่างไร จากบนลงล่าง หรือล่างขึ้นบน ซึ่งยะลา เป็นเมืองที่พิเศษมาก ได้ความคิดจากข้างล่าง กำหนดนโยบาย ทำจากข้างบน แต่ของเรามักจะไม่มีผู้นำที่มาคลุกคลีและเห็นจริงๆ เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยาก เพราะไม่ได้เกิดจากนั่งในส้วมแล้วคิดออก แต่มาจากการคุยกับชาวบ้านจริง ซึ่งยะลาเป็นเมืองที่คนข้างนอกมองว่าน่ากลัว แต่ผมไปมา 8 รอบไม่ได้เป็นอย่างนั้น อยู่ที่ผังเมือง ยะลามีผังเมืองที่ออกแบบดีที่สุดในประเทศไทย ผังเมืองเป็นต่อ แต่ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้คนมีความสุข การออกแบบอีกเรื่อง วิธีคิดของผู้นำเป็นอีกเรื่ิองหนึ่ง”

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหา คืออย่าไปฝืนในสิ่งที่เราเป็น และพยายามอย่าเป็นอะไรที่เราไม่ได้เป็น พื้นที่สาธารณะสำหรับ กทม. ก็ควรจะหน้าตาเหมือน กรุงเทพฯ ไม่ควรเหมือน มิลาน นิวยอร์ก เราต้องดูว่าพื้นที่แบบไหนที่ชาวบ้านใช้ อย่างสะพานพุทธตอนนี้เอาออกไปแล้ว ที่ไหนที่เวิร์กก็ต่อยอดตรงนั้น แต่สถาปนิกมักจะมีอุดมคติลอกฝรั่งเพราะเห็นว่าดี แต่เรามักลืมที่จะเดินไปตามถนน ใน กทม. ก็ต้องเดินใน กทม. พื้นที่แบบไหนที่จะใช้ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่ใช่ตามอุดมคติ อาจจะคงเดิม เปลี่ยนการใช้งานภายในให้คนทุกเพศทุกวัย หรือต่างชาติมาใช้ได้ โดยดูว่าของเดิมใช้งานแบบไหน และต่อยอด คือวิธีที่จะสร้างพื้นที่ในเมืองได้

Advertisement

“คนที่เข้ามาในเมืองเพราะมีโอกาสทำมาหากินได้ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า กทม. เข้ามาแล้วจน เพราะค่ารถ ค่าครองชีพสูง เมืองควรจะถูกกำหนดด้วยมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก คนจึงจะเข้ามาแล้วมีโอกาสมากขึ้น ส่วนตัวจะไม่แจก ชิม ช้อป ใช้ แต่จะให้คนใน กทม. ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี 1 เดือน เชื่อว่าคนแฮปปี้ เพราะคนจ่ายค่าเดินทางเยอะ ขอแค่เรื่องเดียว ขึ้นรถไฟฟ้าไม่จ่ายตังค์ รถเมล์ฟรี ทำอย่างไร ไม่ยาก ทำได้”

นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า ผังเมืองตอนนี้เป็นไข่ดาว เป็นเมืองในอุดมคติ แบบอเมริกา แต่วันนี้ กทม.มี10 ล้านคน ใช้ผังแบบนั้นไม่ได้แล้ว โตเกียว ลอนดอน ก็เปลี่ยน แต่เรายังยึดแบบเดิมอยู่ เรื่องความหนาแน่น FAR ผังเมืองคงทุกอย่างไว้ตรงกลาง ต่างประเทศรถเมล์วิ่งสั้น รถใต้ดินวิ่งยาว ของเราตรงกันข้าม ทุกอย่างจึงขึ้นกับผังเมืองทั้งหมด

“การควบคุมผังเมืองให้รวมศูนย์ตรงกลาง มีคนได้ประโยชน์ ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงเพราะจะเสียประโยชน์ อย่างน้อยกระจายให้เมืองมีศูนย์กลางมากกว่า 1 ซึ่งนักผังเมืองส่วนมากจะแย้ง มันเป็นเรื่องการเมือง ถ้าคนที่ปกครองแต่ละเขตมีอำนาจมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยงทั้งหมด จะให้ทำให้ทุกอย่างแก้ปัญหาได้ ถ้าผังเมืองไม่เวิร์ก ทุกอย่างก็อิรุงตุงนัง แต่มีอะไรบางอย่างเกินขึ้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องมันสมองของคนไทย แต่คือเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งแก้ได้ ถ้ามีความรับผิดชอบกับประชาชนจะคิดได้” นายดวงฤทธิ์กล่าว และว่า

ขั้นตอนแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากกระจายอำนาจผังเมือง เป็นแบบหว่าน มีจุดศูนย์กลางมากกว่า 1 กระจายจราจร ต้องอนุญาตให้แต่ละส่วน ให้เมืองทุกเขตมีอำนาจการตัดสินใจในการปกครองอย่างค่อนข้างอิสระ มีการควบคุมความหนาแน่นของเมืองมากขึ้น จากนั้นเป็นเรื่องกระจายอำนาจการปกครอง ทำให้เกิดจุดศูนย์กลางเมืองใหม่ เช่น หนองจอก ถ้าให้หาเงินเอง คนจะพัฒนา จูงใจให้คนมาอยู่มากขึ้น เพื่อเก็บภาษีมากขึ้น ส่งส่วนกลางเล็กน้อย แต่เอามาพัฒนาในเมืองต่อไป

ถ้าจะให้เมืองแฮปปี้ต้องแก้ไขสอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วน คือ 1.ผังเมือง ว่าด้วยความหนาแน่น 2.ระบบสาธารนูปโภค 3.การปกครอง ลดอำนาจนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงประชาชนกับผู้ปกครองได้มากขึ้น กระจายอำนาจได้ เมืองจะไหลลื่น ดีขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงมาก แต่คนทำต้องแมนสุดๆ รับรองประเทศชาติจะเจริญขึ้นมาก

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า พื้นที่ส่วนกลางสำหรับแลกเปลี่ยนจำเป็นมากในสังคมที่มีความแตกต่างค่อนข้างสูง ที่ยะลาเป็นพหุวัฒนธรรม แต่เราพยายามสื่อสารผ่านสภาประชาชนและสภากาแฟทุกเดือน ให้เมื่อคนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน สิ่งที่เกิดคือการตกผลึกทางความคิด

“อย่างยะลา 6 ปีที่แล้ว เราทำโครงการ ‘คืนยะลาให้คนยะลา’ ในความรู้สึกคือยะลาเป็นเมืองสะอาดเพราะผังเมืองดี มีวาระของเมืองเรื่องทางเท้า ซึ่งทำก่อน คสช.มา 6 ปี โดยใช้หลักรัฐศาสตร์ คนต้องกินต้องใช้ ไม่ใช่ไล่แล้วไม่หาที่ให้เขากิน
ส่วนใน10- 20 ปีข้างหน้า ในแง่คน การจัดการท้องถิ่นต้องเปิดพื้นที่มากขึ้น สร้างพื้นที่ให้เจเนอเรชั่นใหม่ได้เข้ามา ที่ยะลาเราทำค่ายเพื่อปลูกฝังเรื่องนี้ แต่ต้องใช้เครื่องมือโดยเฉพาะโซเชียล ซึ่งจะดิสรัป หากท้องถิ่นไม่ทำ

“ยะลามีกระบวนการโซเชียลคอนโทรล ซึ่งดีกว่ากฎหมาย มาจัดระเบียบได้ภายหลัง ขณะเดียวกันการมีโอเพ่นเสปซ ความเอื้ออาทรจะเกิดเพราะมีปฏิสัมพันธ์ การเปิดพื้นที่กลาง สิ่งที่ได้เราจะเห็นคือพัฒนาการของคนในสังคม อย่างตอนทำสภาประชาชนตอนแรกอาจพูดเรื่องถนนหนทาง ตอนหลังเราคุยเรื่องคุณภาพชีวิตมากขึ้น เพื่อเป็นโซเชียลไบรท์ ไกด์สังคมไปข้างหน้า เมื่อคนเรียนรู้กว้างขวาง จะเกิดวาระของเมือง”

“เราดูกรณีคนกรุงเทพฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ออกต่างจังหวัดไปหาสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ยะลาเรามีนโยบายทำสวนล้อมเมือง เพราะวันนี้ปัญหาคืออุณหภูมิโลก สิ่งที่เรามีมากกว่าที่อื่น คือแม่น้ำวิ่งตามเมือง 16 กม. และปลูกป่าอีก 3 ชั้น มีนโยบายปลูกต้นไม้ปีละ 1 หมื่นต้น เพราะเราเป็นสังคมเกษตร สิ่งที่น่ากลัวของเกษตรกรไม่ใช่ราคา แต่คือสภาพอากาศ การพยายามกลับไปรักษาสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิมเป็นทางที่ดีที่สุด ที่ไหนที่มีมูลค่าจะเอามาทำสวนให้หมด เพราะสวนคือทรัพย์สินระยะยาวที่รุ่นลูกหลานได้ใช้”

“ในอนาคตคนทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก ที่ๆ คนทำงานแล้วมีความสุข ต้องอยู่แล้วสบาย ใช้ชีวิตได้ปลอดภัย มีสภาพอากาสที่ดี ตอนนี้คนเริ่มกลับต่างจังหวัด ถ้าวางผังตั้งแต่ตอนนี้ไทยจะมีความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะคนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมคือคนที่มีการศึกษาเป็นหลัก เราจะได้คนที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น ซึ่ง จะเป็นความได้เปรียบในระยะยาวด้วย”

นายพงษ์ศักดิ์กล่าววา ก้าวต่อไปของยะลา วันนี้เหตุการณ์เริ่มดีขึ้น ท้องถิ่นเริ่มเข้าไปดูเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ภาคเกษตรจะเห็นว่า 15 ปีของเหตุการณ์ไม่มีการพัฒนา ส่วนภาพลักษณ์ เริ่ม 1.รีเฟรชเมือง แต่งให้มีความสดชื่น จัดกิจกรรมให้คนมายะบา เช่นยะลามาราธอน ได้รับความสำเร็จอย่างมาก โดยจะทำให้เป็นศูนย์กลางมาราธอน อีกส่วนคือ ความเป็นท้องถิ่นและการสืือสารกับประชาชนต้องทำประชามติให้หมด ผู้นำต้องฟังชาวบ้าน เชื่อมโยงประชาชน นำเอไอเอข้ามา กระตุ้นให้คนทำความดี แลกเหรียญทางสังคม ซึ่งทำอยู่ และคาดว่าปีหน้าจะแล้วเสร็จ และจะเปิดสมาร์ทซิตี้ ต่อไปคือสมาร์ตซีเคียวริตี้ ปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น ให้เรากับประชาชนเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลา

“ปัญหาคือประเทศไทยถูกมัดมือเพราะไม่กระจายอำนาจ จีนเป็นตัวอย่างที่ดี ให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง มีเพียงนโยบายหลัก เก็บภาษี ส่งคืนท้องถิ่น 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ของเราเก็บ 70 คืน 30 เปอร์เซ็นต์ อสม . เบี้ยชรา รวมอยู่ในนี้หมด รวมทั้งเงินเดือน เราจึงเหลือเงินพัฒนาเพียงนิดเดียว”

“เทศบาลมีศักยภาพ แต่ด้วยการผูกมัด เช่น เทศบาลนคร ท้องถิ่นจัดได้แค่กีฬาท้องถิ่น เพราะระเบียบไม่ให้ เพราะการไม่กระจายอำนาจก ารหวาดระแวง จึงทำงานกันไม่ได้
ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีแนวคิด เขาได้จะพัฒนาได้เร็วมากเพราะทุกคนแข่งกันเพื่อดึงคน ดึงการลงทุนเข้ามาในเมือง แต่เรากลาวเป็นทำตามแค่ในหน้าที่ เพราะเดี๋ยวหน่วยงานมาตรวจสอบ
แข่งกันเองประชาชนจะได้ประโยชน์ พอมัดมือทำอะไรไม่ได้” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ด้านนายวริทธิ์ธรกล่าวว่า เมืองควรเปิดพื้นที่ตรงกลางคนจะได้มาช่วยกันคิด เมืองจะได้ฟังในสิ่งที่ประชาชนอยากได้จริงๆ การมีพื้นที่แลกเปลี่ยน จะพัฒนาไปตามที่คนในเมืองอยากให้เป็น

“ในมุมมอง พื้นที่ที่สาธารณะไม่ควรจำกัดแค่สวน เป็นขุมชนได้หรือไม่ เพระาทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวไม่มาก แต่บางที่ไม่รู้ว่ามีไปเพื่ออะไรเพราะไม่มีชีวิต ไม่มีกิจกรรม อย่างชุมป้อมมหากาฬ ในนั้นมีลานของชุมชน เป็นที่สาธารณะ ตอนนี้เป็นสวน ไม่ปฏิเสธว่าสวย แต่เราไม่รู้ว่าจะไปทำไม เพราะมีแค่ป้ายบอกว่า ที่นี่มีชีวิตอย่างไร หรือหอศิลป์ก็เป็นพื้นที่สาธารณะได้”

นายวริทธิ์ธรกล่าวว่า หลายคนน่าจะรับรู้ปัญหา การใช้รถสาธารณะ รถเมล์คือสัญลักษณ์ของผู้มีรายได้น้อย เราจะไม่ค่อยเจอว่านางเอกมีเงินขึ้นรถเมล์ ไม่แน่ใจว่าเพราะสื่อหรือมายด์เซตกันแน่ที่ทำให้คนไม่ให้ค่าคนในเมืองเท่าเหมือนกัน คือการมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

“ถ้ารถเมล์ขนคนได้ 50 ที่นั่ง ถ้าเราเปลี่ยนโจทย์ คือทำอย่างไรให้ขนคนได้เร็วจากที่ล้นถนน ทุกวันนี้ถ้าเราจะคิดแค่ว่าทำให้รถไม่ติดก็ยังยากมาก แต่ทำไมไม่ลองคิดว่า ทำอย่างไรให้คนไปได้พร้อมกัน ถึงที่หมายได้เร็ว ไม่ว่าจะทางรถ หรือ เรือที่เรามองข้ามมานาน

เมื่อไหร่ที่การเดินทางไม่แอดเวนเจอร์ ไม่ใช่เรื่องเหนื่อยหนักหนาสาหัสของชีวิตที่ต้องเจอทั้งเช้าและเย็น จะทำได้ ต้องกลับมาที่คนในเมืิองว่าอยากได้อะไร ผังเมืองเราเป็นซุปเปอร์บล็อก ใหญ่มาก กว่าจะออกนอกชานเมือง เข้ามาต่อรถในเมือง ถ้าผังเมืองยังแก้ไม่ได้ ขนส่งสาธารณะก็ไม่ควรจะแขวนคนไว้อย่างนั้น เราทำรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้คิดว่าจะพาคนมารถไฟฟ้าอย่างไร ต้องนั่งมอไซด์ต่อรถไฟฟ้า ต่อมอไซค์ 200 บาท/วัน เฉพาะค่าเดินทาง” วริทธิ์ธรกล่าว

วริทธิ์ธรกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ แม่จะยากก็ตาม อย่างขนส่งสาธารณะ กลายเป็นว่าสิทธิการใช้พื้นที่บนถนนไม่เท่ากัน ถ้าเราจะต้องรถติดเหมือนกัน ทำไมต้องยืน หรือเราไม่ตระหนักว่าการมีบัสเลนดีอย่างไร คนคิดว่ารถติดมากขึ้น แต่ไม่ได้มองเรื่องเวลา และความเร็ว ถ้าเรามีบัสเลนรถจะโฟลว์ เหมือนรถไฟฟ้าแค่อยู่บนถนน ซึ่งในกรุงเทพมีแล้ว แต่เราไม่ได้บังคับใช้จริง

“เรามองข้ามหลายอย่าง อย่างคลองแสนแสบ อาจจะต้องออกแบบเรือ ให้ปลอดภัยขึ้น คนจะไม่โดนน้ำสาด ตอนนี้ยังไม่ถึงที่ทำงานก็ไม่แฮปปี้แล้ว ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน ถ้าเรากลับบ้านได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้นเป็นภาพสำคัญที่จะทำให้คนแฮปปี้ได้ ขนส่งมวลชนดี พัฒนาคุณภาพชีวิตดีได้” วริทธิ์ธรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image