จิตแพทย์ชี้ โยนหมาดิ่งตึกดับ เหตุ ‘เครียดสะสม’ ส่งผลพฤติกรรมรุนแรง

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสาวประเภทสองโยนสุนัขพันธุ์ชิวาวาลงมาจากอาคารที่พักสูง 5 ชั้น จนตายอนาถ ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในซอยลาดพร้าว 122 เนื่องจากไม่พอใจที่สุนัขของเพื่อนทำลายข้าวของและขับถ่ายไม่เป็นที่ ว่า เหตุการณ์นี้อาจเกิดจากภาวะเครียดสะสม ซึ่งภาวะเครียดนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ด้วย โดยสัญญาณเตือนเมื่อมีภาวะเครียดแบ่งเป็น สัญญาณเตือนทางกาย เช่น ภาวะนอนไม่หลับ คิดสิ่งที่จะทำไม่ออก และสัญญาณทางจิตใจ เช่น จิตใจว้าวุ่น สมาธิไม่ดี เมื่อมีเรื่องหรือสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ มากระทบต่อความรู้สึกนึกคิดก็จะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมรุนแรงไม่เหมาะสมออกมา หรือ เรียกว่า ฟิวส์ขาด อาทิ การทำลายข้าวของ การกระทบกระทั่งกับบุคคลอื่น

นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ควรสะสมความเครียดเอาไว้ โดยความเครียดภายในที่มีอยู่เดิม ต้องหาทางระบายออก ซึ่งสามารถทำได้โดยหาสาเหตุของความเครียด เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เช่น รายนี้มีปัญหาในเรื่องพฤติกรรมของสุนัขที่ขับถ่ายไม่เรียบร้อย อาจต้องเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมห้อง เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น การส่งสุนัขเข้าโรงเรียนฝึกสุนัข หรือแบ่งเขตพื้นที่ในการใช้ชีวิตภายในห้องเดียวกัน ขณะเดียวกันต้องไม่นำความเครียดจากภายนอกเข้ามาสะสมเพิ่มด้วย

“วิธีแก้หรือเบี่ยงเบนความเครียดทั้งภายในและนอกจิตใจ สามารถทำได้ 5 วิธี คือ 1.การออกกำลังกายคลายเครียด เช่น เล่นโยคะ รำไทเก๊ก เป็นต้น 2.การฝึกหายใจเข้าออก วันละ 10 นาที เพื่อให้มีสติ 3.การจินตนาการคลายความเครียด เช่น การเปิดดนตรีคลอ ควบคู่ไปกับเรื่องที่ทำ หรือ คิดเรื่องที่สุขใจ 4.ฟังคำพูดดีๆ ของนักพูดที่คิดบวก หรือ ฟังธรรมะ และ 5.การนวดคลายเครียด นอกจากนี้ การไปฝึกสมาธิ เพื่อฝึกให้จิตใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมีสติอยู่ จนทำให้รู้สึกสงบ ไม่เครียดก็สามารถช่วยได้ หากปฏิบัติได้ก็จะทำให้ปัญหาที่เกิดจากอารมณ์ จนก่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพียงชั่ววูบลดลงได้” นพ.ยงยุทธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image