สธ.เปิดวอร์รูมย้ำชัด สสจ.ทั่วปท.ต้องแบนทั้ง “3สารเคมี” เหตุมีผลต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ พร้อมด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และคณะผู้บริหารกรมต่างๆในสังกัด สธ. ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมผ่านระบบวิดีโอกับสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) ทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางการทำงานเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่ง สธ.ได้ให้ความสำคัญกำหนดให้การป่วยและเสียชีวิตจากพิษสารเคมีทางการเกษตรเป็นตัวชี้วัด และอยู่ในระบบรายงานโรค ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

จากนั้น นพ.ม.ล.สมชาย แถลงว่า การประชุมชี้แจงในวันนี้ เป็นการยกระดับการเฝ้าระวัง ระบบการรายงานผู้ป่วยจากพิษสารเคมีทางการเกษตร ที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ทั้งเป็นสารก่อมะเร็งในผู้ที่สัมผัสในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง และเกิดพิษเฉียบพลัน เช่น ปอดพัง หนังเน่า เนื้อเน่าจากสารฆ่าวัชพืชพาราควอต หรือสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ที่จะรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ ระบบสืบพันธ์ ระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก  ส่วนสารไกลโฟเซต จะรบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ซึ่งมีรายงานชัดเจนว่าหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และประกาศห้ามใช้

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า สธ.ได้เร่งรัดจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ ได้เปิดวอร์รูมพร้อมตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ มีเป้าหมายที่จะยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ซึ่งประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 พบอัตราป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 18.91 ต่อประชากรแสนราย เพิ่มเป็น 21.52 ต่อประชากรแสนรายในปี 2560 ขณะนี้ 9 เดือนของปี 2562 พบป่วยจากสารเคมีทางการเกษตร (ที่ไม่รวมการฆ่าตัวตาย) ในทุกกลุ่มโรคจำนวน 4,833 รายทั่วประเทศ และในกรณีที่โครงการราชบุรีประชารัฐ ของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ที่พบอ้างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเป็นที่ปรึกษา และใช้ตรา สธ.โดยไม่ได้รับอนุญาตทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียหายต่อ สธ.และผู้เกี่ยวข้อง จึงมอบกองกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Advertisement

“คณะกรรมการฯวัตถุอันตรายทั้งหมดของ สธ. มีจุดยืนชัดเจนที่จะสนับสนุนยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร พร้อมขอให้มีการโหวตแบบเปิดเผย ทั้งนี้ ไม่ว่าผลโหวตจะเป็นอย่างไร สธ.พร้อมที่จะทำงานเพื่อดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดี” นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวและว่า หลังจากนี้อีก 6 วัน ก่อนถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะจัดมาตรการระยะสั้น ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของสารพิษทั้ง 3 สารนี้ สู่ประชาชนให้รับทราบ และเน้นย้ำว่าในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะต้องมีการลงคะแนนแบบเปิดเผย ให้ยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัว และจัดให้อยู่ในวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 พร้อมจัดทำข้อมูลทางด้านวิชาการสุขภาพส่งไปยังคณะกรรมการทุกคนก่อนเข้าประชุม เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการใช้สารเคมี

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ข้อมูลจาก สธ.นั้นถือว่าเป็นข้อมูลจริงที่ได้จากการตรวจสอบอย่างมีมาตราฐานและการตรวจสอบนั้นใช้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้รับการรับรอง เป็นข้อมูลทั้ง 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 ที่ได้ส่งให้น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ชุดที่ 2 คือข้อมูลฉบับสมบูรณ์ที่ส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดที่ 3 เป็นชุดที่จัดทำโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และอีกหลายกรมซึ่งเป็นชุดข้อมูลใหม่ ข้อมูลแต่ละชุดมีการระบุว่า มีผบกระทบการจากใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด การปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ซึ่งมีร้อยละ 26.6 คือ พาราควอต ร้อยละ 16 คือ คลอร์ไพริฟอส รวมไปถึงข้อมูลการได้รับสารเคมีจากแม่สู่ลูก

“ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคณะผู้วิจัยและผู้ศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งก็ได้รับการรับรองจาก สธ.เช่นกัน ดังนั้นชุดข้อมูลนี้ไม่สามารถย้อนแย้งได้ หากเป็นข้อมูลใดที่นอกเหนือจากนี้ สธ.จึงอยากถามกลับว่า ข้อมูลอื่นที่นำมาน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะข้อมูลจาก สธ.คือข้อมูลจากกระทรวงหลักที่ดูแลสุขภาพของคนไทยทั่วประเทศ สารเคมีเหล่านี้เข้าไปปะปนในห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นสิ่งที่คนไทยได้กินเข้าไปจะได้รับสารเหล่านี้ ในความหมายคือ ได้รับปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ และเกิดโรคเรื้อรัง ทั้งนี้สารเคมียังมีฤทธิ์แบบเฉียบพลันที่เกิดจากทางผิวหนัง การหายใจ หรือการกิน ซึ่งพาราควอตถือว่าอันตรายระดับที่ 1” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ที่มีคนกล่าวว่าไกลโฟเซตไม่อันตรายเฉียบพลันนั้น ไม่จริง สธ.ได้ข้อมูลแล้วว่า หากเผลอกิน 200 ซีซี ก็เกิดอาการทางสมองเฉียบพลัน เป็นอัลไซเมอร์เฉียบพลัน และสารอื่นๆ ก็มีผลในลักษณะเดียวกัน หากใครครอบครองใช้หลังวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ก็ถือว่าเป็นการครอบครองวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ทั้งนี้ สธ.มีความเห็นว่า 1.เราไม่ต้องการทำลายเกษตรกรและเราจะป้องกันอันตรายให้เกษตรกร 2.เรากำลังเรียกร้องให้รัฐบาลมีกองทุนทดแทนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนถ่าย 3.มีกองทุนมีที่ช่วยเกษตรกรในการทดแทน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกรทางการเกษตร สารชีวภัณฑ์ สารเคมีที่จะปลอดภัยสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้เป็นการทำเพื่อเกษตรกรทั้งสิ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในประเด็นที่มีการโต้แย้งกรณีที่นำสารเคมีไปใช้ในการฆ่าตัวตายนั้น มีคำพูดที่เจ็บปวดคือ “ถ้าอยากตายก็สมควรตาย” เป็นคำพูดที่เจ้าหน้าที่ดำเนินงานด้านสาธารณสุขนั้นต่างรับไม่ได้

“เราจะต้องนึกถึงผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจจะตายแต่ในที่สุดก็ตาย และหน้าที่ของ สธ.คือ จะต้องดูแลทุกคนไม่ให้เสียสุขภาพและเสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลของ สธ.ในปี 2562 มีรายงานว่ามีจำนวนผู้ตั้งใจฆ่าตัวตายเพียงร้อยละ 60 และร้อยละ 40 เป็นการเสียชีวิตที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดจากการประกอบอาชีพและมักจะเป็นเกษตรกร ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าการวินิจฉัยโรคมีรหัสระบุชัดเจนในการเสียชีวิตของประชาชน ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้เสียชีวิต 406 ราย และเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย เกิดจากการได้รับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด และอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการจะแบนไม่ใช่เพียงแบนแค่ 1 ตัว อีก 2 ตัว ให้ใช้ แต่จะต้องแบนสารที่มีอันตรายเฉียบพลันและมีอันตรายต่อเนื่องในปริมาณน้อย ก็จะต้องจัดว่าเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เช่นกัน”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

สำหรับกรณีที่กลุ่มอาสาคนรักแม่กลอง อ้างว่าได้ข้อมูลการตรวจสารเคมีจากห้องปฏิบัติการของเซ็นทรัล แล็บ ผลออกมาว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีในผักผลไม้นั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า กรณีนี้ที่มีการระบุว่าผลการตรวจนั้นได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องไปตรวจสอบว่าห้องตรวจมีมาตรฐานหรือไม่ และมีบางกรมที่มีข้อมูลเสนอให้กรรมาธิการวิสามัญว่า ตรวจแล้วไม่พบ จึงจะต้องถามกลับว่า 1.เครื่องมือของห้องตรวจนั้นๆ มีมาตราฐานหรือไม่ เพราะแล็บกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีความสามารถในการตรวจได้มากกว่า 600 ชนิด และมีมาตราฐานระดับโลก 2.ผลตรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ในปี 2562 ที่พบการปนเปื้อนกว่าร้อยละ 41 ซึ่งเป็นการตรวจจากแล็บมาตรฐานที่ประเทศอังกฤษ มีหลักฐานของการตรวจอย่างละเอียด ทั้งนี้การที่ สธ.เชื่อถือผลตรวจจากไทยแพน เนื่องจากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง และการตรวจมีการประสานงานกับกรมวิทยาศาสตร์ฯ อย่างมีขั้นตอน ถูกต้อง

“ดังนั้นจึงอยากทราบว่าข้อมูลจากแหล่งอื่นนั้น มีความถูกต้องหรือไม่ มีความสามารถในการตรวจแค่ไหน และมาตราฐานเป็นอย่างไร ถึงมีผลออกมามีความย้อนแย้งกับทาง สธ. ส่วนกรณีที่มีการรับสารเคมีจากแม่สู่ลูกนั้น มีรายงานจากต่างประเทศในปี ค.ศ.2011, 2013 และ 2017 มีรายงานว่ามีทารกเกิดจากแม่และได้รับผ่านทางรกเข้าสู่สายสะดือ ทำให้ทารกได้รับสารเคมี สามารถตรวจได้จากขี้เทาและสายสะดือของทารกที่คลอดใหม่ ซึ่งรายงานวิจัยของ พญ.พรพิมล เรืองวุฒิเลิศ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันสุขภาพประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่ามีความน่าเชื่ออย่างมาก และระบุไว้ว่าเด็กที่ได้รับสารเคมีนั้นเมื่อคลอดแล้วจะมีพัฒนาการผิดปกติ สมาธิสั้น และเข้าสังคมไม่ได้ ซึ่งมีผลจากการได้รับสารเคมีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะฉะนั้นจะอ้างว่าข้อมูลของประเทศไทยห่วยหรือใช้ไม่ได้นั้นก็ไม่เป็นความจริง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image