มูลนิธิหญิงชายฯ เปิดสถิติความรุนแรงพุ่ง ระบาดทุกพื้นที่ จี้รัฐแก้ปัญหาเชิงรุก

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดการเสวนารายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561 หัวข้อ “ฆ่าซ้ำ เจ็บซ้อน ความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง เกินตั้งรับ” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลินิธิได้จัดทำรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยรวบรวมจากข่าวหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ในรอบปี 2561 พบว่า เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 ร้อยละ 35.4 ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นที่เชื่อมโยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 108 ข่าว หรือประมาณร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ หากแบ่งตามประเภทข่าว พบว่า อันดับ 1 เป็นข่าวฆ่ากันตาย 384 ข่าว รองลงมา ฆ่าตัวตาย 93 ข่าว การทำร้ายกัน 90 ข่าว ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 33 ข่าว และความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 23 ข่าว

นางสาวจรีย์ กล่าวว่า หากจำแนกความสัมพันธ์ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 73.3 เป็นข่าวสามีฆ่าภรรยา ร้อยละ 58.2 ข่าวระหว่างคู่รักฝ่ายชายฆ่าฝ่ายหญิง ส่วนกรณีลูกฆ่าพ่อแม่ พบร้อยละ 46.5 และการฆ่ากันระหว่างญาติ 45.3 ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 443 คน ซึ่งสูงขึ้นถึง 173 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในข่าวปี 2559 ที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 270 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 64

นางสาวจรีย์ กล่าวว่า ส่วนจังหวัดที่มีการฆ่ากันตายมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมา พิจิตร และฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวฆ่ากันตายต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะกระจุกตัวอยู่เป็นบางจังหวัดเท่านั้น แต่ในปี2561 พบว่า ข่าวฆ่ากันตาย ได้ขยายไปเกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement

ด้าน นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของไทยมาถึงจุดเปราะบาง เราไม่สามารถทำงานตั้งรับกันแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะเกินกว่าที่จะรับมือแบบปกติได้ จึงอยากฝากข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก คือ 1.สร้างความตระหนักให้สังคมเข้าใจในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญ ปรับทัศนคติ ความคิด ความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกคนต้องเคารพในสิทธิเนื้อตัวของกันและกัน 2.ใช้กลไกชุมชนเป็นฐานลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยผู้นำชุมชนจะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนในชุมชนไม่นิ่งเฉย ได้รับการส่งเสริมพัฒนารู้วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับชุมชนได้ 3.ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 4.การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่โดยมุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำเป็นหลักก่อน เพราะการมุ่งรักษาสถาบันครอบครัวในขณะที่มีการกระทำความรุนแรงนั้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสียเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและบานปลายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image