‘บิ๊กอู๋’ ลงพื้นที่พัทยาชวนหยุดให้เงินขอทาน พบทั่วประเทศ 4,555 ราย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่เปิดงาน “พัทยาสดใส ร่วมใจหยุดการขอทาน” โดยนำผู้บริหารพม. ผู้บริหารเทศบาลเมืองพัทยา ตลอดจนเจ้าหน้าที่เดินรณรงค์แจกแผ่นพับพร้อมพูดคุยการให้ทานถูกวิธีลดวิถีการขอทาน บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท แหลมบาลีฮาย ไปจนถึงโค้งถนนพัทยาใต้ เมื่อช่วงเวลา 21.00 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน ว่า พม.ได้ร่วมมือกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทาน พ.ศ.2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น ผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทานจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วย โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวอีกว่า การจะแก้ปัญหาคนขอทานที่ยั่งยืน ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชน ซึ่งหากพบเห็นคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานสามารถแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม โอเอสซีซี โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลขอทานทั่วประเทศจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 พบขอทาน จำนวน 4,555 ราย เป็นคนไทย 2,896 ราย ต่างด้าว 1,659 ราย แบ่งเป็นชาย 2,558 คน หญิง 1,429 คน เด็กชาย 208 คน เด็กหญิง 159 คน พ่อ-ลูก 7 คู่ 14 ราย แม่-ลูก 85 คู่ 187 ราย โดยมีการตักเตือนส่งคืนครอบครัว 1,981 ราย ส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 1,178 ราย ส่งโรงพยาบาล 43 ราย ส่งสถานคุ้มครองกรณีคู่พ่อแม่ลูก 201 ราย ส่งบ้านพักเด็ก 131 ราย และส่งกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 6 ราย ส่วนขอทานในเขตพัทยา จ.ชลบุรี ที่ล่าสุดมีการจัดระเบียบผู้กระทำการขอทานครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม 2559 พบผู้กระทำการขอทาน 44 ราย เป็นคนไทย 7 ราย ต่างด้าว 28 ราย คนไร้ที่พึ่ง 9 ราย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นชาวกัมพูชา และเป็นผู้กระทำการขอทานรายเดิมที่พบจากการจัดระเบียบในครั้งที่ผ่านมาและมีแนวโน้มขอทานเพิ่มขึ้น

อธิบดีพส.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหาการขอทาน คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน และผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะในเมืองพัทยา ที่เทศบาลเมืองพัทยา พบสาเหตุที่ประชากรชาวกัมพูชาเข้ามาขอทานมาก เนื่องจากมีรายได้น้อยและรัฐไม่ได้จัดสวัสดิการอย่างทั่วถึง ทำให้ประชากรชาวกัมพูชามีฐานะยากจน จึงเข้ามาประกอบอาชีพขอทานในประเทศไทย ซึ่งมีรายได้ประมาณวันละ 800-1,000 บาท ทำให้แม้ถูกจับและผลักดันกลับประเทศ พวกเขาก็ไม่กลับไปหาครอบครัวแต่รออยู่ตามตะเข็บชายแดนเพื่อกลับมาใน 1 สัปดาห์ โดยจ้างรถโดยสารจากชายแดน จ.สระแก้ว มาส่งที่ จ.ชลบุรี ส่วนขอทานคนไทยเดี๋ยวนี้มีพัฒนาการ โดยจะมาในรูปแบบขายสิ่งของแอบแฝง เช่น ลูกอม ดอกไม้ พวงกุญแจ โดยให้ผู้สูงอายุและเด็กเป็นคนขาย เพื่อให้เกิดความสงสารเห็นใจจากคนไทย จึงทำให้เกิดกรณีมีการให้เงินโดยไม่รับของ อย่างไรก็ตาม เราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าการขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และขอความร่วมมือให้งดการให้ทานแก่คนขอทาน

Advertisement

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว เราประสบปัญหาคนขอทานโดยเฉพาะในรูปแบบขบวนการที่มีการจัดที่พักอาศัยให้คนต่างด้าวแถบชานเมือง เมื่อถึงเวลาก็มีรถขนคนเหล่านี้มาขอทานในเมือง ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังพยายามติดตามและเอาผิดทางกฎหมายอยู่ ทั้งนี้ เรายังพบว่าขอทานมีการปรับรูปแบบ จากเดิมวางขันขอเงินธรรมดาเดี๋ยวนี้มาในรูปแบบเอาของมาค้าขาย หรือแสดงความสามารถพิเศษ ซึ่งถือเป็นการประกอบอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย แต่เราก็จะดูเป็นรายกรณีไป หากพบเป็นในลักษณะสร้างความวุ่นวายแก่นักท่องเที่ยว ทำลายภาพลักษณ์ สามารถดำเนินการเอาผิดตามระเบียบเทศบาลเมืองพัทยาได้ทันที

นางรัตนาวดี วงษ์หาญ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า คนขอทานที่จ.ชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว ซึ่งจับทีจะพบแต่หน้าซ้ำๆ เราจึงทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เมืองพัทยา ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในการวางแผนรับมือขอทานหน้าซ้ำๆ ด้วยการพยายามขยายผลว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ รวมถึงการประสานกับประเทศต้นทาง ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพื่อติดตามและสกัดกั้น ส่วนหากเป็นขอทานคนไทย เราส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อฝึกอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ให้เขากลับมาขอทานซ้ำ

ด้านแม่ค้ารายหนึ่งในวอล์คกิ้ง สตรีท แหลมบาลีฮาย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า คนขอทานแบบเอาขันตั้งแล้วขอเงินกันตรงๆ บนถนนแห่งนี้ไม่มีแล้ว เขาเปลี่ยนเป็นลักษณะขายของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วพยายามวิ่งเข้าหานักท่องเที่ยวให้ซื้อ ใช้วิธีตั้งแต่ออดอ้อน เช่น กอดแขนกอดขาไม่ให้ไปไหน ไปจนถึงยืนชี้หน้าด่าทอหากไม่ซื้อ ซึ่งที่พบส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่เข้ามา ขณะที่วันนี้ที่มีการเดินรณรงค์จะไม่พบคนเหล่านี้ เพราะพวกเขารู้ พวกเขาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับผลประโยชน์

Advertisement

 

S__3932181

S__3932186

S__3932180

S__3932179

S__3932177

S__3932176

S__3932174

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image