เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทงสิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 841,327 ใบ แบ่งเป็น กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 796,444 ใบ หรือร้อยละ 94.7 และกระทงจากโฟม จำนวน 44,883 ใบ หรือร้อยละ 5.3 แม้ปริมาณกระทงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 3.62 แต่สัดส่วนของกระทงโฟมลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามกระทงที่ถูกนำมาลอยตามจุดต่างๆ สุดท้ายจะถูกเก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปกำจัดต่อไป
“ในวันลอยกระทงนี้ ขอความร่วมมือทุกคน ร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสืบสานประเพณีที่ดีงาม โดยใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด คือ 1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำ เช่น กระทงขนมปัง ขนมข้าวโพด ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากิน กระทงหยวกกล้วยควรลอยในแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่ เก็บขนขึ้นมา 2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำได้ 4. เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ 5. ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่าขยะน้อยกว่า และ 6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ.กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทง กล้วยก็มีส่วนสำคัญและผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ในงานประเพณีต่างๆ อีกทั้งยังเป็นวัสดุจากธรรมชาติช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย
“กล้วยมีสารอาหารเกือบทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ ในกล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก (40 กรัม) มีพลังงาน 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี กล้วยดิบ มีรสฝาด แก้ท้องเสียเนื่องจากมีสารแทนนิน รวมถึงช่วยสมานแผลในกระเพาะและลำไส้ กล้วยห่าม รสฝาดออกหวาน แก้ท้องเสีย ชดเชยโพแทสเซียมที่เสียไป กล้วยสุก รสหวาน บำรุงร่างกาย แก้ท้องผูก ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นและป้องกันโรคริดสีดวงทวาร กล้วยสุกงอม มีรสหวานจัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังงาน เป็นกากใยช่วยในการขับถ่าย และมีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็ง ลำต้นหรือหยวกกล้วย นิยมนำมาทำฐานกระทง ส่วน ใบตองสด นำมาใช้ในการทำอาหาร ห่อกับข้าว หรืองานศิลปหัตถกรรม เช่น กลีบกระทง บายศรี เป็นต้น นอกจากนี้ กล้วยยังช่วยบำรุงผิวพรรณทำให้ผิวเนียนนุ่ม ลดริ้วรอย โดยนำกล้วยน้ำว้า 1-2 ผล น้ำผึ้งและนม ผสมเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าให้เนื้อเหลวจนเกินไป ทาให้ทั่วใบหน้าและลำคอ ประมาณ 15-20 นาที สามารถนวดเบา ๆ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพียงแค่นี้ผิวหน้าจะเนียนนุ่ม” นพ.ปราโมทย์ กล่าวและว่า นอกจากสรรพคุณที่กล่าวแล้ว กล้วยยังเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้รักษาแผล ในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย วิธีใช้ให้กินครั้งละ 10 กรัม ชงด้วยน้ำร้อนปริมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการท้องผูก และการกินยานี้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 0-2591-7007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ