ศาล-ก.ยุติธรรม เห็นพ้องปรับมุมมอง ‘คดียาเสพติด’ ตามกม.ใหม่ สอดคล้องทิศทางUN

ศาล-ก.ยุติธรรม เห็นพ้องปรับมุมมองคดียาเสพติดตามกม.ใหม่ สอดคล้องทิศทางUN -บิ๊กต๊อก ระบุ 5 ปราบอย่างเดียวไม่ได้ผล เล็งหารือ “สธ.” เปลี่ยนยาเสพติดเป็นยารักษา เผย สารเสพติดบางชนิดรักษาโรคได้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานร่วมกันเปิดการประชุมเรื่อง ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลกภายหลังการประชุม UNGASS (2016) กับการพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ศาลฎีกา และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้เชิญวิทยากรระดับโลกจากต่างประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ มาร่วมให้ข้อมูลอีกด้วย

นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา
นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา

นายวีระพล กล่าวว่า ยาเสพติดในปัจจุบันมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีอาญาที่ศาลยุติธรรมต้องพิจารณา อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาการทบทวนและระดมความคิดเห็นในการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายยาเสพติดเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายโลก เพราะที่ผ่านมา การใช้ความรุนแรงในการปราบยาเสพติดมีความล้มเหลวและทำให้เกิดเหตุการณ์ยาเสพติดกระจายขึ้น ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้กฎหมายด้วยความเข้าใจและรอบคอบ ซึ่งศาลยุติธรรมก็ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดนโยบาย

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดมีแนวคิดว่าทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบันโลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษาต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้งที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

Advertisement
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า จากการที่เราได้เข้าร่วมประชุม UNGASS ของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวาระพิเศษเกี่ยวกับยาเสพติด ก็นำเรื่องดังกล่าวมาขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งที่ตนอยากทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศไทย คือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราพูดถึงสงครามยาเสพติด โดยประกาศชัดเจนว่าต้องไม่มียาเสพติดในโลกนี้ แต่หลังจากที่ตนเข้าประชุมเมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว หากตนพูดในภาษาชาวบ้านคือ เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไรอย่างมีความสุข และทุกคนเข้าใจมัน ใช้ประโยชน์จากมัน เพราะยาเสพติดบางประเภทมียาแก้ปวด แก้อะไรพวกนี้ และสังคมต้องปลอดภัย ซึ่งต้องเข้าใจมันให้มากขึ้น

“วันนี้โลกทั้งโลกเป็นอย่างนี้หมดแล้ว มันไม่ได้เป็นการพูดกันลอยๆ มันมีเชิงวิชาการ และบางประเทศสำเร็จไปแล้ว อย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ หรืออย่างออสเตรเลีย และโปรตุเกสก็เริ่มนำมาทำกันแล้ว มันต้องยอมจำนนกับเรื่องพวกนี้ เมื่อก่อนเราปราบยาเสพติด เราใช้การปราบนำจับมาติดคุก ผมถามว่าประเทศไทยใช้ 20-30 ปี เราทำสำเร็จหรือไม่ มันไม่สำเร็จหรอก ต้องยอมรับผลอันนี้ ยอมรับวิธีการดำเนินการนี้ แต่เราต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจ เพราะการรับรู้ยาเสพติดกับประเทศไทยจะเป็นในเรื่องของการปราบ เชิงของอาชญากรรมที่เลวร้าย และเป็นยาเสพติดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งที่เมื่อก่อนเราใช้ยาเสพติดเพื่อการรักษา บำบัด และดูแลดี” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงยุติธรรมต้องพยายามทำในเรื่องนี้ มันจะเป็นการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของการดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติด หลายประเทศที่เราดูตัวอย่าง และนำกฎหมายเขามาใช้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยประกาศสงครามยาเสพติด และท้ายที่สุดเขาก็ยอมจำนน และแก้หลักเกณฑ์ กฎหมาย ซึ่งเราก็ไปลอกเอาในเรื่องของการฟื้นฟูมาเมื่อปี 2545 แต่เราก็ไม่ได้ทำตรงนี้ ตนจึงพูดว่าประเทศไทยควรยุติการใช้การปราบนำ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ปราบ ซึ่งการป้องกันยาเสพติดต้องมี 3 ระบบ คือ ระบบปราบปราม ป้องกัน และบำบัดฟื้นฟู ดังนั้น ระบบฟื้นฟูถือเป็นเรื่องสำคัญกับเรื่องนี้ที่จะทำ และการป้องกันก็สำคัญ แต่ตราบใดที่กฎหมายยังเขียนอย่างนี้อยู่มันก็จะเดินไปถึงตรงนั้นลำบาก

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กฎหมายฟื้นฟูกับกฎหมายยาเสพติดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมันขัดแย้งกัน ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมก็พยายามแก้กฎหมายแล้ว โดยอยู่ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งเราก็ได้แก้ปมสำคัญหลายปมที่เกิดปัญหามาถึงทุกวันนี้ เท่าที่เห็นในปัจจุบันคือ หากโดนจับกุมในคดีพกพายาเสพติด 1 เม็ด ก็มีโทษจำคุก 25 หรือ 15 ปี ซึ่งมันไม่ใช่ มันสวนทางกับเรื่องเสพเรื่องการเสพติดผู้ป่วย เรารับรู้ว่าการดื่มสุรา สูบบุหรี่ มีโทษมากกว่าเมทแอมเฟตามีนด้วยซ้ำไป แต่เรามองว่าเมทเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ซึ่งเราจะทำอย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่สังคมโลกกำลังจะมองว่าเราจะอยู่กับสารเสพติดได้อย่างไรให้เกิดความปลอดภัยกับสังคม ซึ่งมีหลายประเทศที่กำลังแก้ไขตรงนี้

“และที่ผมอยากจะพูดซ้ำคือในเชิงวิชาการ เชิงทฤษฎี และการปฏิบัติการงานวิจัยทั้งหมด การปราบไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหายาเสพติดอีกแล้ว หลายประเทศก็ยกเลิกไปเป็น 10 ปีแล้ว และแต่ละประเทศปัญหาก็หมดไปแล้ว เขาก็อยู่ได้ อยู่ในการดูแลหมอ เพราะเขามองแล้วว่าผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วย ต้องได้รับการดูแล ซึ่งก็ต้องดูว่าเราจะดูแลกับมันอย่างไร จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชนทุกคน เราต้องยอมรับมัน ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะเปลี่ยนเมทกลับมาเป็นยาปกติแล้วหรือยัง ผมกล้าที่จะทำ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นความจริง ซึ่งผมกำลังศึกษาอยู่ว่าจะแก้มันอย่างไร ให้มันกลับมาเป็นสารปกติเสียที แต่เราต้องมีหน่วยงานต่างๆ มารองรับการทำงาน” รมว.ยุติธรรม กล่าว

13467286_1117565424971654_358088519_o

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องเชิญกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมหารือกันหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ใช่ เราต้องคุยกันทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ป.ป.ส. ตำรวจ อัยการ และศาล ทั้งหมดต้องคุยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นแนวโน้มกันแล้ว และก็เห็นแล้วว่า เมท มีโทษน้อยกว่าบุหรี่และสุรา อีกที่จะทำร้ายสมอง แต่เรากลับมองว่ามันไปไกลกว่าเหล้าและบุหรี่อีก โดยมองว่ามันเป็นอาชญากรรม ซึ่งสุราไม่ใช่อาชญากรรมหรือ ทั้งที่สารเสพติดบางตัวมันไม่ใช่ ดังนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ตนพร้อมที่จะแก้และจะทำการศึกษาในช่วงเวลาที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image