เครือข่ายสตรี เดินรณรงค์ยื่นข้อเรียกร้อง ‘ยุติความรุนแรง’ เผยยอดผู้หญิงไทยถูกทำร้าย 3 หมื่นรายต่อปี (คลิป)

เครือข่ายสตรี เดินรณรงค์ยื่นข้อเรียกร้อง ‘ยุติความรุนแรง’ เผยยอดผู้หญิงไทยถูกทำร้าย 3 หมื่นรายต่อปี

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน เครือข่ายสตรี 4 ภาค เครือข่ายผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ร่วมกับมูลนิธิเพื่อหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี และมูลนิธิชุมชนไท จัดกิจกรรมเดินรณรงค์จากหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ซึ่งมอบหมายให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารับข้อเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเครือข่ายสตรี 4 ภาค และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มเดินรณรงค์จากหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 ในรูปแบบขบวนถือป้ายข้อความรณรงค์ภายใต้แนวคิด “I am strong เราจะไม่ยอมให้ใครมาทำร้าย” อาทิ เพศผู้ไม่ข่มขู่ผู้หญิงและเด็ก และรักเพศแม่ต้องดูแลผู้หญิงและเด็ก ท่ามกลางการให้ความสนใจของประชาชนที่สัญจรไปมา

Advertisement

เมื่อขบวนรณรงค์เดินทางถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 ตัวแทนขบวนเครือข่ายได้อ่านข้อเรียกร้อง ในโอกาสที่ 15 ตุลาคม เป็นวันผู้หญิงชนบท และ 25 พฤศจิกายน เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล เพื่อการคุ้มครองสิทธิ ส่งเสริมบทบาท สร้างความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมทางเพศ ต่อหลายกระทรวงหน่วยงาน และเพื่อให้เกิดการบูรณการ การทำงานของภาครัฐ ทั้งหมด 8 ข้อ

ได้แก่ 1.เชิญชวนให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการชวนประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ขยายเวลาให้สถานบริการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ด้วยเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความรุนแรงในครอบครัว 2.ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มเนื้อหา หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาทักษะชีวิต เพศ สิทธิในร่างกาย และความเสมอภาคทางเพศ 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มมาตรการการทำงาน โดยมีหน่วยเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการสอบสวนคดีครอบครัว การละเมิดและคุกคามทางเพศ หน่วย 191 ของตำรวจต้องพร้อมเข้าช่วยเหลือคุ้มครองแม่และเด็กทันทีที่มีการร้องทุกข์ 4.เพิ่มสวัสดิการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากมาตรการเงินสงเคราะห์บุตร 600 บาทต่อเดือนอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งควรมีมาตรการเรียกเก็บความรับผิดชอบเงินคืนจากฝ่ายชายด้วย 5.สร้างและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในชุมชนเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินได้ด้วยตนเอง 6.รณรงค์ทำความเข้าใจพนักงานและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรณีใช้สิทธิของผู้ป่วยข้ามพื้นที่ กรณีที่ผู้หญิงย้ายถิ่นทำงาน ฝากครรภ์ และอื่นๆ 7.ข้อเสนอประเด็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เช่น จัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานเรื่องปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นองค์กรอิสระที่ขึ้นตรงภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี พัฒนางานสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ จัดทำแผนการป้องกัน และการล่อลวงเด็ก ผู้หญิง ผ่านโซเชียลมีเดียและออนไลน์ และ 8.รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้มูลนิธิหรือภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยตัวแทนเครือข่ายได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารับข้อเรียกร้อง

Advertisement

ทั้งนี้ ขบวนเครือข่ายสตรี ยังได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ว่า จากสถิติประเทศไทย พบว่ามีผู้หญิงไทยถูกกระทำด้วยความรุนแรง ทุบตี ทำร้าย คุกคาม ละเมิด และแสวงหาประโยชน์ทางเพศ 30,000 รายต่อปี โดยมียอดสูญเสียชีวิตของผู้หญิงเฉลี่ยปีละ 1,825 คนต่อปี ที่ปรากฎหลักฐานจากการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดี ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ไปแจ้งความร้องทุกข์เพราะอาย และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

นายจุติ กล่าวภายหลังรับฟังข้อข้อเรียกร้องว่า ในประเด็นที่เครือข่ายเรียกร้องมานั้น หลายเรื่องทางรัฐบาลก็ได้ทำอยู่แล้ว 1.เรื่องประเด็นการค้ามนุษย์ที่เป็นวาระระดับชาติ มอบหมายให้หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงาน 2.เรื่องการเพิ่มจำนวนพนักงานสืบสวนหญิง นายกฯก็ได้แนะนำให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มโควต้าตรงนี้ 3.การละเมิดสิทธิทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต้องให้ความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกระทรวงพม.ก็ได้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเยอะมาก ด้วยเราไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้ว และตนก็ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิผู้หญิงทั้งในทางกฎหมายและในทุกมิติทางสังคม

รมว.พม. กล่าวอีกว่า ทีมงานของกระทรวงพม. ประมาณ 80 เปอร์เซ็นก็เป็นผู้หญิง ดังนั้นพวกเราเข้าใจปัญหาของพวกท่านดี สิ่งที่ท่านนำมาเสนอทั้ง 8 ข้อ มีอะไรบ้างที่เรายังทำไม่ครบหรือที่เรายังทำขาดไป เราก็จะทำร่วมกับท่านและองค์กรสตรีอื่นๆ เพื่อให้เครือข่ายผู้หญิงเกิดความเข้มแข็ง และผมเชื่อว่าหากเราสนับสนุนผู้หญิงให้มากกว่านี้ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น โอกาสนี้ผมก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อรักษา คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของสตรีต่อไป

จากนั้นตัวแทนเครือข่ายได้มอบเสื้อวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลให้แก่นายจุติ และเชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในหัวข้อ “เสียงของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากความรุนแรง” (Voices of Dead Women) ด้วยการแปะข้อความเกี่ยวกับข่าวผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนเสียชีวิต กลางวงล้อเสียงของผู้หญิง ต่อจากนั้นทั้งหมดได้ปิดการรณรงค์ด้วยการกล่าวคำว่า “I am strong เราจะไม่ยอมให้ใครมาทำร้าย” พร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image