เปิดแล้ว! ยื่นขอโควต้าจ้างแรงงานต่างด้าว 24 กิจการ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายจ้าง/สถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว สามารถดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ในตำแหน่งอาชีพกรรมกรใน 24 กิจการ ประกอบด้วย ประมง / เกษตรและปศุสัตว์ / ก่อสร้าง/ต่อเนื่องการเกษตร/ ต่อเนื่องปศุสัตว์/ รีไซเคิล รับซื้อของเก่า คัดแยกขยะ คัดแยกของเก่า/ ทำเหมืองแร่และเหมืองหิน/ ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหะ/ ผลิตหรือจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม/ ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากดิน/ ผลิตหรือจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง/ แปรรูปหิน/ ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนรองเท้า/ ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกเคมี ผลิตปุ๋ย ของเล่นเด็ก/ ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ/ ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และยานยนต์/ ขนถ่ายสินค้าทางบก ทางน้ำ คลังสินค้า/ อู่ซ่อมรถ ล้าง อัดฉีด/ สถานีบริการน้ำมัน แก๊ส เชื้อเพลิง/ สถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม สถานพยาบาล/ กิจการให้บริการต่างๆ ยกเว้น กิจการรับเหมาแรงงาน และแปรรูปสัตว์น้ำ และคนรับใช้ในบ้าน รวมเป็น 25 ประเภทงาน

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสัญชาติเวียดนามตำแหน่งกรรมกรเฉพาะในกิจการก่อสร้าง และประมงทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยผ่านเอ็มโอยู จะไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ยกเว้น 4 กรณี คือ นายจ้างตาย นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างกระทำทารุณกรรม และนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยนายจ้าง/สถานประกอบการสามารถติดต่อยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2559 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม) มีแรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู 323,270 คน แบ่งเป็น พม่า 155,835 คน ลาว 33,899 คน และกัมพูชา 133,536 คน โดยประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การให้บริการต่างๆ 2.กิจการก่อสร้าง 3.กิจการต่อเนื่องการเกษตร 4.ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป 5.ต่อเนื่องประมงทะเล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image