เหยี่ยวถลาลม : ‘เจตนา’กับ‘ปาฏิหาริย์’

วิชาความรู้เป็นมรดกตกทอดทางปัญญาของมนุษยชาติ

แต่ก็นานเท่านาน ล่วงผ่านหลายศตวรรษทีเดียว จึงจะค้นพบ “จุดลงตัว” การกล่าวโทษและเอาผิดทางอาญา

“ผิด” หรือ “ไม่ผิด” กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะกล่าวหาผู้ใด

ทั้งยังเป็นเรื่อง “ยากอย่างยิ่ง” ถ้าจะพิพากษาตัดสิน !

Advertisement

กระบวนการพิสูจน์ความถูกผิดจึงต้องยอมให้ยืดเยื้อ ใช้เวลาในการต่อสู้ถกเถียง หักล้างกันและกัน แต่ถึงที่สุด ก็จะไปพบกับที่จุดหมายปลายทาง นั่นคือ “เจตนา”

“เจตนา” คือผู้นั้นรู้สำนึกในการที่ได้กระทำลงไป และผู้กระทำนั้นเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

เกี่ยวกับที่ดิน ที่ป่า หรือที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้าใจได้ไม่ยากเลย

การบุกรุกแผ้วถางก็เพื่อ ถือครอง

ผลก็คือ ได้ครอบครองและใช้ทำประโยชน์

เมื่อได้ประโยชน์จากการถือครองนั้นโดยสมบูรณ์ก็เรียกว่า “มีเจตนา” ไม่ได้เกิดจากความโง่เขลา พลั้งเผลอเพราะผู้กระทำมีเจตนามุ่งมั่นชัดแจ้งว่าต้องการอะไร “เล็งเห็นผล” และเมื่อลงมือกระทำแล้วก็ “ได้รับผล” นั้นอย่างสมบูรณ์

จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เจ้าพนักงานป่าไม้หรือพนักงานสอบสวนจะวินิจฉัย “การกระทำ” ของชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ของป่าไม้ว่า ทำความผิดกฎหมายฉบับใด เพราะผู้แสดงตนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองบอก “เจตนา”

เช่นเดียวกับกรณี “ทวี-ปารีณา ไกรคุปต์” สองพ่อลูกก็ต้องพิสูจน์

ถ้าจะอ้างว่านู๋ไม่รู้ ชาวบ้านหลายชีวิตที่ติดคุกติดตะรางทั้งก่อนหน้านี้และเวลานี้ก็หามีใคร มีความรู้เท่าเทียม “ทวี-ปารีณา” ไม่

ธวัชชัย ลัดกรูด ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ จึงนำพยานหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ปทส.ดำเนินคดี “ทวี-ปารีณา” กล่าวหาว่า กระทำความผิดกฎหมาย 4 ฉบับคือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14, พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ก็ยืนยันว่า คดีรุกป่า 46 ไร่ ของปารีณาต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ไม่มีปาฏิหาริย์แห่ง “รังวัด” !

การเรียงหน้าพาเหรดบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานกรมป่าไม้ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และใช้ได้กับทุกคน ถึงจะเรียกว่า “เสมอกันภายใต้กฎหมาย” !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image