งานหนัก เงินน้อย ปัญหาโลกแตกโรงพยาบาลรัฐ

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการทำงานหนักและได้รับค่าตอบแทนน้อยเป็นปัญหาของทุกอาชีพ แต่สำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็น ความตาย ของผู้คน มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนยิ่งนัก

เรื่องของ “หมอ” กับ “พยาบาล” ก็กำลังเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างหนักเวลานี้ เพราะนับตั้งแต่มีรัฐดูแลสุขภาพของประชาชนผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่มีประชาชนใช้สิทธิประมาณ 48 ล้านคน ยิ่งส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศต้องมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นหลักในการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง เกิดภาวะหมอ พยาบาล สมองไหล ย้ายไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนทันที เมื่อมีโอกาส เพราะโรงพยาบาลรัฐ ค่าตอบแทนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการทำงานหนักสายตัวแทบขาด

พยาบาลหลายคน หลายพื้นที่ เริ่มมีอาการน้อยใจ เพราะค่าตอบแทนต่ำกว่าหมอเกินเหตุ ทั้งๆ ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกันตลอด ฯลฯ พิจารณาจากค่าตอบแทน ระหว่าง หมอกับพยาบาล

หมอจบใหม่ เรียนมา 6 ปี เทียบเท่าจบปริญญาโท เป็นข้าราชการก็เริ่มสตาร์ท ที่ระดับ 4 เงินเดือนประมาณ 16,000 บาท ไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าเบี้ยกันดาร เบี้ยเสี่ยงภัย ค่าเวร ค่าไม่เปิดคลินิก รวมแล้วประมาณ 40,000-50,000 บาท ขณะที่พยาบาลจบใหม่ หากเป็นพยาบาลเทคนิค เรียน 2 ปีจบ เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท ค่าเวรอีก 2,500-3,500 บาท ส่วนพยาบาลจบใหม่ ที่เรียนมา 4 ปี หรือพยาบาลวิชาชีพ เงินเดือน 15,000 บาท ค่าอยู่เวรครั้งละ 600-700 บาท รวมแล้วประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน

Advertisement

ความแตกต่างเรื่องค่าตอบแทนระหว่างหมอกับพยาบาล ที่กำลังจะเป็นประเด็นเวลานี้คือ ค่าเวรและค่าเบี้ยเสี่ยงภัย หมอมีค่าเวรครั้งละ 1,500-1,800 บาท ค่าเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 20,000 บาท ขณะที่พยาบาลมีค่าเวรครั้งละ 600-700 บาท ค่าเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท

เป็นเหตุให้พยาบาลหลายคนถึงกับถอดใจลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน เพราะเห็นว่าอยู่กับรัฐบาล งานหนักมาก และค่าตอบแทนก็น้อยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับแรงกายแรงใจที่สูญเสียไปในแต่ละวัน ในขณะที่มีหมอจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน เมื่อใช้ทุนหมด ก็ลาออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนทันที เพราะค่าตอบแทนระหว่างโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนต่างกันลิบลับ

หมอในโรงพยาบาลเอกชนมีค่าตอบแทนคนละราวๆ 100,000-300,000 บาท ในขณะที่พยาบาลก็จะอยู่ที่ 80,000-100,000 บาท

Advertisement

“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า เรื่องการเกิดสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอและพยาบาลนั้น เป็นเรื่องที่พบได้ทุกยุค ทุกสมัย หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เห็นว่าการเพิ่มเงินเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะคนที่ทำงาน หรืออยู่เวร จะเหมาะสมกว่า การเหมาจ่ายทั้งระบบ เพราะหากเหมาจ่ายทั้งระบบนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมาก

“สาเหตุเรื่องสมองไหลนั้น เกิดจากการทำงานหนักก็จริง แต่การที่จะผันตัวเองไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ก็ไม่ใช่ว่างานจะน้อยและสบายอย่างที่คิด แม้เงินค่าตอบแทนจะได้รับมากกว่าทำงานอยู่โรงพยาบาลรัฐก็จริง แต่เขาก็ใช้งานคุ้ม ลางานยาก เข้มงวด ถูกไล่ออกง่าย พูดอีกอย่างคือ มีความมั่นคงต่ำ อย่างเพื่อนผม บางคนที่อยู่โรงพยาบาลเอกชน ช่วงแรกๆ รายได้ราวเดือนละ 300,000 บาท แต่ต่อมาโรงพยาบาลก็มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงิน คือ ให้ค่าตอบแทนตามจำนวนเคส คนไข้ที่ตรวจ ตรวจมาก ได้เงินมาก ตรวจน้อยได้เงินน้อย” นพ.สุภัทรกล่าว

นอกจากนี้ นพ.สุภัทรยังกล่าวว่า ปัญหาสมองไหลส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับหมอหรือพยาบาลที่จบใหม่ และไม่มีภาระผูกพันเรื่องการชดใช้ทุนกับรัฐบาลอีกแล้ว ซึ่งเห็นว่าการเพิ่มค่าตอบแทน โดยการเพิ่มค่าเข้าเวรให้กับพวกเขาเหล่านี้จะเหมาะสมที่สุด ไม่ต้องอดตาหลับขับตานอน อาทิตย์ละ 5-6 วัน เพื่อรับค่าเวรที่ดูเหมือนจะไม่มากนัก แต่อยู่เวรสัปดาห์ละ 2-3 วัน ค่าตอบแทนพอสมควร คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น เพราะไม่ต้องทำงานหนักเกินไป

ขณะที่ “ดร.กฤษดา แสวงดี” อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น มีพยาบาลแค่ ร้อยละ 60 ของปริมาณคนไข้ที่มีอยู่เท่านั้น พยาบาลที่มีอยู่จึงทำงานหนักและเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมาได้ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องรับผิดชอบอีก การเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนของค่าเวรนั้นเป็นสิ่งที่พยาบาลเรียกร้องให้ทำอยู่แล้ว อีกประการที่รัฐจะต้องเร่งทำคือการเร่งผลิตปริมาณพยาบาลให้เพียงพอ สามารถรองรับกับปริมาณคนไข้ที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับค่าตอบแทนน้อย ไม่สมกับการทำงานหนัก แต่ในเรื่องของการดูแลคนไข้ ไม่เคยมีใครแบ่งว่าผู้ที่มารับบริการนั้นจะใช้สวัสดิการรูปแบบใด บริการเท่าเทียมกันหมด

“เป็นเรื่องที่น่าน้อยใจอย่างยิ่ง พยาบาลเราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับหมอ บางทีก็ทำงานหนักกว่าหมอด้วยซ้ำไป สถานีบางแห่งไม่มีหมอ มีแต่พยาบาล ชาวบ้านก็ยังเข้าไปรับบริการได้ เพราะเรามีระบบส่งต่อ หากเป็นกรณีเจ็บป่วยหนักๆ ในขณะที่หมอจะทำงานเดี่ยวๆ โดยไม่มีพยาบาลช่วยแบ่งเบานั้น ยากมาก แต่เมื่อมาดูระบบค่าตอบแทน ที่รัฐจัดให้เวลานี้ น่าตกใจมาก พยาบาลมีค่าตอบแทนต่ำกว่าหมอถึง 27 เท่า ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้ว พยาบาลทั้งในระดับปริญญาหรืออนุปริญญานั้น ควรจะมีอัตราเงินเดือนสูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ ในระดับเดียวกัน เพราะจะต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และความเป็นความตายของผู้คน” ดร.กฤษดากล่าว

ปัญหานี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก ยิ่งในช่วงที่บ้านเมืองกำลังปฏิรูปด้วยแล้วยิ่งต้องเร่งพิจารณา เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจจะกระทบหนักไปถึงการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image