“อภัยภูเบศร” เสนอทางออกแก้ร้านค้าออนไลน์ อ้างสรรพคุณ “หมามุ่ย” ชี้คนไทยเชื่อง่าย ไม่ตรวจสอบข้อมูล

หลังจากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ศตพร พันทอง อายุ 21 ปี หรือน้องมิลค์ ซึ่งพบว่ามีการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากหมามุ่ยอินเดีย แบบแคปซูล กระทั่งเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงก่อนจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตรัง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น จนสังคมมีการวิตกกังวลว่า หากเป็นเพราะเม็ดหมามุ่ย แสดงว่าต้องระมัดระวังการรับประทานมากขึ้นหรือไม่ ขณะที่ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดหมามุ่ยจำนวนมาก และอ้างสรรพคุณมากมาย ซึ่งหลายคนกังวลว่าจะเชื่อได้หรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่อยากให้สังคมมองเพียงว่าเป็นเพราะหมามุ่ย หรือเพราะอะไรเท่านั้น แต่อยากให้มีระบบในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เนื่องจากตัวหมามุ่ย นับเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพต่างๆ เพราะจากรายงานการวิจัยในประเทศอินเดียเกี่ยวกับเม็ดหมามุ่ยนั้นมีศักยภาพเป็นยาได้ ทั้งเรื่องพาร์กินสัน การบำรุงร่างกาย หรือแม้กระทั่งช่วยเรื่องผู้มีบุตรยาก ในแง่ของการคุณภาพเชื้ออสุจิ โดยในอินเดียมีการทดลองในหนู พบว่าความถี่ของหนูทดลองหลังรับสารจากหมามุ่ย เห็นความเปลี่ยนแปลงของการร่วมเพศของหนู แต่ในระดับการทดลองในมนุษย์นั้น จะเป็นเรื่องคุณภาพของภาวะมีบุตรยาก โดยพบว่าคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิดีขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือการนำไปใช้มากกว่า อย่างกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทยก็มีจำนวนมาก ซึ่งแต่ละชนิดไม่มีทางทราบว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง และเป็นไปตามการอ้างสรรพคุณต่างๆ หรือไม่

“ปัญหาของคนไทยคือ หลงเชื่อข้อมูลสุขภาพง่ายเกินไป ไม่มีการตรวจสอบ อย่างคนเมืองจะเชื่อข้อมูลจากเฟซบุ๊ก จากไลน์ ส่วนคนในต่างจังหวัดในชุมชนก็จะเชื่อจากรถเร่ จากวิทยุชุมชน ดังนั้น ไม่เพียงแต่เรื่องเม็ดหมามุ่ย ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ สิ่งสำคัญต้องมีข้อมูลที่ดีพอ จะทำอย่างไรให้คนไทยเรียนรู้และตระหนักถึงอาการแพ้ต่างๆ อย่างกรณีหมามุ่ย เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง คนกินอาจมีภาวะแพ้ถั่วก็ต้องระวัง แต่โดยปกติอาการแพ้อาหารจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก ก็ต้องมาพิจารณาว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ อีกทั้งต้องระวังในเรื่องภัยคุกคาม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมายควบคุม โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ที่ระบุสรรพคุณทางยา การรักษาหรือแม้กระทั่งการป้องกันโรค ผู้ที่ออกมาเผยสรรพคุณเหล่านี้ต้องมีใบรับรองถูกต้อง แม้จะเป็นเภสัชกร หรือวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องก็ตาม อย่างน้อยก็เป็นเครื่องการันตีช่วยผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง” ภญ.สุภาภรณ์กล่าว

นอกจากนี้ ภญ.สุภาภรณ์ยังบอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวมทีมเภสัชกรสมุนไพร ซึ่งเป็นเภสัชกรที่ผสมผสานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับยาในแบบต่างๆ ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image