อาจารย์ค้านเลิกจ่ายเบี้ยคนชรา ชี้เป็นอีก “แหล่งรายได้หลัก”

นางสาวกมลชนก ขำสุวรรณ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวคิดการเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากถ้วนหน้า เหลือเพียงผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท และมีทรัพย์สินไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาของกระทรวงการคลังว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะจากข้อมูลสำรวจประชากรสูงอายุไทยปี 2557 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ ร้อยละ 36.7 มาจากบุตร รองลงมาร้อยละ 33.9 มาจากการทำงาน และร้อยละ 14.8 มาจากเบี้ยผู้สูงอายุ

นางสาวกมลชนกกล่าวถึงการจ่ายเงินอุดหนุนผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับสังคมไทยว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ การขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ในระบบแรงงานนานที่สุด จะได้มีรายได้จากการทำงานประจำออกไปให้ช้าลง รัฐก็จะได้ประหยัดงบประมาณในการจ่ายค่าเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุช้าลง โดยจากข้อมูลปี 2558 รัฐบาลจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุรวม 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าทุกปีรัฐต้องจ่ายค่าเบี้ยยังชีพ 6 หมื่นล้านบาท ในปี พ.ศ.2573 รัฐจะต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวมถึง 101,905 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐขยายอายุเกษียนออกไปเป็น 65 ปี รัฐจะจ่ายเพียง 73,343 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างถึง 28,562 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image