นวัตกรรมเด่น งาน ‘ยางบึงกาฬ’ มุ่งแปรรูป-เพิ่มมูลค่า

แค่เอ่ยถึง “ยางพารา” ใครๆ ก็นึกถึงแต่เรื่องราคา ทว่าหนทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ก็มีอยู่ไม่น้อย

ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 8 จากความร่วมมือของจังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน เนรมิตสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ เป็นลานมหกรรมยางพารายิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน งานมีตั้งแต่วันที่ 12-18 ธันวาคม 2562

งานดังกล่าวเปิดพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้ โชว์นวัตกรรมจากยางพาราที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมๆ กับการระบายสต๊อกยางพาราในประเทศไปด้วย

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ที่เข้าร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬมาโดยตลอด จึงไม่พลาดนำนวัตกรรมด้านยางพาราหลายรายการมาจัดแสดง พร้อมเปิดให้ผู้สนใจร่วมทดลอง ไม่ว่าจะเป็น พาราวอล์ก (Para Walk) ผลิตภัณฑ์แผ่นพื้นยางพาราเพื่อลดการบาดเจ็บ มีจุดเด่นคือเป็นวัสดุแข็งที่ช่วยให้เกิดการทรงตัวได้ยอดเยี่ยม ลดการหกล้ม หรือหากหกล้มก็เกิดการกระจายแรงที่ดี กว่า 7% ช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บลง

Advertisement

ที่นอนน้ำยางพารา โดย หจก.เคทีซี ร่วมกับเอ็มเท็ค ช่วยกันพัฒนา ประกอบด้วย ถุงยางพาราที่บรรจุน้ำจำนวนหนึ่งมาเชื่อมต่อกัน และห่อหุ้มด้วยผ้ารองที่นอน พบว่าที่นอนน้ำนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมและช่วยลดการเกิดแผลกดทับ

กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพและกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางได้พัฒนาฟูกที่นอนน้ำในแง่มุมสำคัญ อาทิ ทดสอบการรับแรงดันของถุง เพื่อให้มั่นใจว่าถุงยางพาราที่บรรจุน้ำไม่ปริฉีกรั่วซึมระหว่างการใช้งาน, ทดสอบการกระจายน้ำหนักด้วยการสร้างแผนผังความดัน (Pressure Mapping) กับอาสาสมัคร เปรียบกับที่นอนทั่วไป รวมทั้งการพัฒนาอุปกรณ์เติมน้ำให้ใช้งานสะดวกรวดเร็ว

ดร.ดนุ พรหมมินทร์ หัวหน้าทีมวิจัย ชีวกลศาสตร์ เอ็มเท็ค เผยว่า งานวิจัยเรื่องที่นอนน้ำเพื่อสุขภาพใช้เวลา 6 เดือน นับตั้งแต่การรับโจทย์ ทำการทดสอบ ออกแบบโมล ออกแบบชุดซึ่งเป็นทางเข้าของน้ำ รวมทั้งออกแบบลักษณะการเติมน้ำ ทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เรื่องแรงกดทับมาแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ ที่นอนน้ำ 1 ชุด มีทั้งหมด 13 ลอน มีคุณสมบัติเรื่องความทนทาน ยืดหยุ่นสูง ลดการเกิดแผลกดทับ สามารถระบายความร้อนได้ดี และยังช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว นอกจากนี้ยังลดภาระของผู้ดูแลที่ต้องคอยพลิกตะแคงผู้ป่วยติดเตียงด้วย จากข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2562 พบว่า มีการใช้งานที่นอนน้ำไปแล้วกว่า 250 ชุด ผลตอบรับเป็นอย่างดี

ขณะที่สถาบันการศึกษาชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ก็เดินหน้าวิจัยและพัฒนาเรื่องยางพาราต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ที่นำมาใช้จริง โดย รศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำตัวอย่างถนนมาโชว์

การใช้น้ำยางพารามาทำถนน นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังช่วยให้อุตสาหกรรมยางพาราขับเคลื่อนไปได้ ร่วมด้วยงานวิจัยอีกหลายอย่าง อาทิ ผิวถนนกันลื่นจากยางพารา, การคิดค้นและพัฒนายางพาราไทย ลดการลื่นไถลบนท้องถนนในจุดเสี่ยง

“ปัญหาราคายางพาราตกต่ำสามารถแก้ไขได้ แต่รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ การกำหนดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือจีทูจี ไทยต้องเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย บราซิล เกาหลีใต้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำยางไปทำนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศ อาทิ ถนนยาง, ล้อเครื่องบิน, หมอนรางรถไฟ, เครื่องนอน” รศ.ดร.ระพีพันธ์แนะนำ

ด้าน กรมชลประทาน มาพร้อม ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา (Para-Log Boom) สีส้มสดใสถูกใจเด็กๆ นวัตกรรมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปัญหาผักตบชวา ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อปัญหาต่อแหล่งน้ำทั่วประเทศ ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การสัญจรทางน้ำ ตลอดจนการส่งน้ำชลประทาน

เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ กรมชลประทาน โดยสำนักวิจัยและพัฒนา จึงมีแนวคิดพัฒนานวัตกรรมนำยางพารามาจัดทำ “ทุ่นดักผักตบชวา” ทดแทน Long Boom ที่ทำจากโลหะและต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญในการผลิต เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ขนย้าย ติดตั้งสะดวกมากขึ้น และราคาประหยัด

“ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” ทำจากเนื้อยางธรรมชาติ 30 กิโลกรัม/ทุ่น ความยาว 2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.40 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 20 กก. การลอยตัวอยู่ที่ 50-55% ของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง อีกทั้งใช้แกนและจุดเชื่อมต่อเป็นโลหะ ไม่ก่อให้เกิดสนิม จัดทำเป็น 2 สี คือ ขาวและส้ม พร้อมโลโก้ RID.No1 มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี

นอกเหนือจากนวัตกรรมที่กล่าวมาแล้ว หนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือเกษตรกรคือการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังเช่น แอพพลิเคชั่น STA FRIENDS หรือศรีตรังเพื่อนชาวสวน ที่กลุ่มบริษัท ศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) พัฒนาขึ้นเพื่อให้ชาวสวนยางซื้อขายยางพารา พร้อมต่อรองราคาได้ในแอพพ์นี้
แอพพลิเคชั่น “STA FRIENDS” เปิดให้บริการมากว่า 2 เดือน โดยชาวสวนยางทั่วประเทศให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะผู้ขายสามารถต่อรองราคาได้ในแอพพ์ โดยมีกำหนดเพดานไว้ชัดเจน โดยอิงจากราคายางของบริษัท

น.ส.พรธิภา ปานคำ เจ้าหน้าที่จัดซื้อวัตถุดิบ กลุ่มบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาบึงกาฬ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่ละจังหวัดมีการซื้อขายยางไม่เหมือนกัน เช่น บึงกาฬ จะเปิดรับเฉพาะน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ โดยบริษัทให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอนการใช้แอพพ์ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่สะท้อนว่า การมีแอพพ์ที่สามารถต่อรองราคาได้เลย ทำให้ประหยัดเวลาในการซื้อขาย ส่วนขั้นตอนการขนยางมาขายนั้น อยู่ในข้อตกลงที่เกษตรกรจะขนส่งสินค้าเอง ถือเป็นปกติของการซื้อขาย

“อุปสรรคช่วงแรกที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้แอพพ์นั้น คือมีเกษตรกรบางกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งผู้สูงอายุไม่ค่อยเข้าใจเรื่องขั้นตอน ซึ่งบริษัทพยายามแก้ไข โดยเรื่องสัญญาณนั้น ให้เกษตรกรติดต่อมายังเจ้าหน้าที่เพื่อทำการซื้อขายได้ ใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน ส่วนผู้สูงอายุจะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้บ่อยกว่าพื้นที่อื่น เพื่อให้เกินความคุ้นชิน เพราะในอนาคตทุกอย่างต้องอาศัยเทคโนโลยีในการเข้าถึง จึงอยากให้เกษตรกรปรับตัวไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านในอนาคต” น.ส.พรธิภาระบุ

ทั้งหมดนี้ เป็นแค่บางส่วนที่จัดแสดงใน “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563” เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับยางพาราไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image