อย.เตรียมเผายาเสพติดกว่าหมื่นล้าน ชี้ยาบ้ามากสุด ลั่นหากปรับกม. ‘ยาบ้า’ คนเสพไม่ต้องติดคุก!

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวเตรียมเผายาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 46 ว่า เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จัดให้มีการทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่จะเผาทำลาย จำนวนกว่า 5,136 กิโลกรัม จาก 231,100 คดี ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 4,240 กิโลกรัม (ประมาณ 47 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 9,423 ล้านบาท ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 422 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,056 ล้านบาท เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 411 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 441 ล้านบาท โคคาอีน น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม (ประมาณ 15,457 เม็ด) มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท ฝิ่น น้ำหนักกว่า 38 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4 แสนบาท และอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 10,961 ล้านบาท

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวนกว่า 4,088 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 32 ล้านบาท โดยของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลายที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม

นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการถอดยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 มาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้น ตลอดเวลาที่มีการเผาทำลายยาเสพติดของอย.แต่ละปีนั้นมีแต่เพิ่มขึ้นไม่ลดลง และในจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดพบว่ากว่าร้อยละ 70-80 เป็นผู้เสพ จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการหามาตรการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งตามแนวคิดนี้ก็เป็นแนวคิดในการที่จะนำผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดการรักษา โดยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมหารือภายในระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเพื่อเตรียมการรับมือกับการปรับเปลี่ยนกฎหมาย พร้อมทั้งเตรียมหารือร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปเพื่อนำเข้าสู่การหารือร่วมกับกระทรวงยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะสามารถลดจำนวนผู้เสพยาได้หรือไม่นั้นยังต้องรอดูต่อไป แต่คิดว่าการจะลดผู้เสพได้ต้องมีการดำเนินหลายมาตรการควบคู่กันไป

เมื่อถามว่าอาจมีการปรับกฎหมายให้ผู้เสพยาไม่ต้องติดคุกเลยใช่หรือไม่ นพ.บุญชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่แนวโน้มอาจต้องเป็นเช่นนั้น เพราะในเมื่อมองผู้เสพยาว่าเป็นผู้รับการบำบัดแล้ว การไปลงโทษโดยเอาไปขังคุกก็ไม่ใช่แนวทางที่จะเลือกในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับยาบ้าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่หากเป็นผู้ขายหรือผู้ผลิตก็ต้องมีโทษจำคุก เอาโทษกันเต็มที่เหมือนเดิม ทั้งนี้ การผลักดันแนวคิดนี้จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ความเข้าใจของประชาชน เพราะแต่ละแนวคิดก็มีข้อดีข้อเสีย จึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจก่อน ส่วนคนเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องมาดูอะไรเหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน

Advertisement

unnamed (3)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image