เราจะไม่พรากจากกัน ? ภาพชุดยืนยัน “น้ำท่วม” อยู่คู่ “ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ” ทุกสมัย

ฝนมาอีกแล้ว ไม่แคล้วกรุงเทพทวารวดีศรีรัตนโกสินทร์ ต้องประสบภาวะน้ำท่วม เอ้ย ! “น้ำรอระบาย” เช่นเคย
ข้อมูลจาก หนังสือ “เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485” ของ “กระทรวงมหาดไทย” และจาก “ข้อมูลสถิติน้ำท่วมสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร” ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เกิดขึ้นอยู่เป็นนิตย์ ตั้งแต่อดีต ยุคตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีครั้งสำคัญๆ ดังนี้

ปีมะเส็ง ปี 2328 ในรัชกาลที่ 1 ปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

เดือนตุลาคม ปี 2362 ในรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

เดือนพฤศจิกายน ปี 2374 ในรัชกาลที่ 3 ท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

Advertisement

ปี 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือ

ปี 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี 2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่ง วัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ปี 2518 พายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนน้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ
ปี 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูกคือ “เบส” และ “คิท” พาดผ่าน และมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสัก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ
ปี 2526 น้ำท่วมรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม วัดปริมาณฝนทั้งปี 2119 มม. มีปัญหาจราจรที่รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน
ปี 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” พัดผ่านภาคอีสาน ทำให้ฝนตกหนักในกรุงเทพฯถึง 617 มม.
ปี 2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 มม. เฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ

ปี 2538 ฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีฝนตกหนักช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง วัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสูงถึง 50-100 ซม. น้ำเหนือหลากท่วมอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน
ปี 2539 มีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพฯ มีเพียงน้ำท่วมขังไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับอภิมหาตำนานอุทกภัยอย่างน้ำท่วมปี 2554 ที่ยังอยู่ในความทรงจำระยะใกล้ และหวังว่าจะไม่เกิดมหันตภัยครั้งยิ่งใหญ่เช่นนั้นอีก.

และต่อไปนี้ คือ ส่วนหนึ่งภาพประวัติศาสตร์เหล่านั้น

 

สถานีรถไฟกรุงเทพ ฯ พ.ศ. 2485
01 สภาพของสถานีรถไฟกรุงเทพ ฯ ครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2485

 

ท้องสนามหลวง พ.ศ.2485 ภาพโดย เอก วีสกุล
02 น้ำท่วมบริเวณท้องสนามหลวง พ.ศ.2485 ภาพโดย เอก วีสกุล

 

หน้า "กรุงเทพ เดลิเมล์"
03 ชาวต่างชาติยืนเรียงรายหน้า “กรุงเทพ เดลิเมล์” คนไทยพายเรือและเดินบนถนน ส่วนชาวจีนลากรถลุยน้ำท่วม ภาพจากหนังสือ Bangkok Then&Now โดย Steve Van Beek

 

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
04 ชาวบ้านพายเรือบนถนนราชดำเนิน มองเห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่เบื้องหลัง ภาพจากหนังสือ Bangkok Then&Now โดย Steve Van Beek
ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกัน
05 ข้าราชการและชาวบ้าน หยุดยืนเคารพธงชาติ แม้ขณะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

น้ำท่วมโรงแรมโอเรียนเต็ล ภาพจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย
06 น้ำท่วมโรงแรมโอเรียนเต็ล ภาพจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี 

 

พายเรือคู่รถเมล์ พ.ศ.2526 ภาพจากเพจวิถีคนคลอง
07 พายเรือคู่รถเมล์สาย 48 บางจาก-วัดโพธิ์  พ.ศ.2526 ภาพจากเพจวิถีคนคลอง

 

กรุงเทพฯ ตุลาคม 2554
08กรุงเทพฯ ตุลาคม 2554

 

มิถุนายน 2559
09 ถนนรัชดาภิเษก มิถุนายน 2559
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image