คร.เดินหน้าแก้ระเบียบอนุญาตกลุ่มเสี่ยง ตรวจหาเชื้อ ‘เอชไอวี’ ด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเชื้อเอชไอวี โดยจะจัดรณรงค์ตลอดเดือนกรกฎาคม ปี 2559 นี้ มีคำขวัญว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” โดยสถานการณ์โรคเอดส์ของประเทศไทยปัจจุบัน พบว่าทุกปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 7,000 ราย ซึ่งจากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี 438,100 คน ส่วนรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการวินิจฉัยในปี 2558 คือ 391,484 คน แสดงถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่ได้รับการตรวจและทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนประมาณไม่ต่ำกว่า 47,000 คน ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับบริการดูแลรักษา และป้องกันทั้งของตนเองและคู่

นพ.อำนวย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการและรณรงค์ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดบริการ และมาตรการรองรับในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือให้หน่วยบริการสุขภาพและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการจัดบริการและร่วมรณรงค์ในหน่วยงาน 2.การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบทราบผลการตรวจในวันเดียว เพื่อลดอัตราการไม่กลับมารับผลการตรวจ และอาจเสียโอกาสในการเข้ารับการรักษา 3.การจัดให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เป็นบริการฟรี ปีละ 2 ครั้ง โดยใช้เพียงบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลัก และรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ฟรีตามสิทธิ

นพ.อำนวย กล่าวว่า 4.การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยสามารถรับคำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขอรับการยินยอมจากผู้ปกครอง 5.หญิงฝากครรภ์และสามี ได้รับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อเข้าสู่ระบบการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก และ 6.การจัดบริการเชิงรุก โดยโรงพยาบาล สถานบริการของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ทั้งให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีนอกสถานที่

“ล่าสุด ปี 2559 อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบให้ตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (self-test) ซึ่งเป็นชุดทดสอบระดับเซลล์ในการตรวจน้ำในช่องปาก อาทิ กระพุ้งแก้ม ซอกเหงือก โดยจะเป็นการตรวจสำหรับประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และไม่ต้องการไปตรวจยังสถานพยาบาลก็สามารถเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สนับสนุนให้แต่ละประเทศจัดบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีดังกล่าว และมีการทำในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ได้อนุญาตให้มีการตรวจด้วยตนเองแล้ว ส่วนประเทศไทยก็ต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ในแง่กฎระเบียบ เนื่องจากที่ผ่านมามีกฎหมายว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีจะต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะแก้กฎหมายอย่างไร ” นพ.อำนวย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image