สธ.หนุนกระทรวงยุติธรรมลดความรุนแรง “ยาบ้า” ผู้เสพคือ “ผู้ป่วย”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอให้สารในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ว่า ก่อนหารือร่วมกับ พล.อ.ไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้เรียกประชุมผู้บริหารเพื่อรับฟังความเห็นต่อแนวทางการควบคุมยาบ้า และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้ลดความเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ เพราะไม่อยากเห็นการประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต เพราะไม่ได้ร้ายแรงมากเหมือนกับเฮโรอีน แต่ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยมี 2 ทางเลือก คือ 1.ลดให้มาเป็นยาเสพติดในกลุ่มเดียวกับกัญชา กระท่อม หรือ 2.จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีแนวโน้มให้เรื่องนี้มี สธ.เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกระทรวงยุติธรรมกำกับติดตามอีกครั้งหนึ่ง

นพ.อภิชัย กล่าวว่า หากแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติจริง สธ.ต้อง 1.วางระบบในการดูแลควบคุมเรื่องการใช้อย่างเข้มงวด 2.ค้นหาและแยกกลุ่มผู้เสพอย่างเดียวซึ่งมีมากถึงร้อยละ 90 ให้เข้าสู่ระบบการรักษา และ 3.เปลี่ยนชุดความรู้เรื่องยาบ้าใหม่ โดยยึดผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับการยอมรับและมีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการการแพทย์ตั้งแต่ปี 2540

“การวิจัยแอมเฟตามีนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ระบุว่าทำลายสมองนั้น ถือเป็นการวิจัยที่ผิดพลาดและไม่รอบคอบ เพราะในการวิจัยครั้งหลังไม่พบว่าแอมเฟตามีนทำลายสมอง ส่วนกรณีที่พบว่าคนเสพเกิดอาการคุ้มคลั่งนั้น พบว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่แอมเฟตามีนมีส่วนทำให้เกิดการตื่นตัว การไม่ได้นอนหลับพักผ่อนจึงทำให้อาการกำเริบได้ หากคนไม่ได้นอน ไม่ว่าจะมาจากการใช้แอมเฟตามีนหรือดื่มกาแฟก็ทำให้มีอาการเบลอ หงุดหงิด หวาดระแรงได้ทั้งสิ้น” นพ.อภิชัย กล่าวและว่า ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการใช้แอมเฟตามีนเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้น โรคอ้วน และโรคนอนหลับฉับพลัน แต่อยู่ในการควบคุมของแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image