‘ปิยะสกล’ เอาจริงดึง ‘5 ส.’ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยา หวังทำงานร่วมทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมบูรณาการนโยบายสุขภาพของประเทศไทย โดยทุกองค์กรสุขภาพ ครั้งที่ 2 ซึ่งมีองค์กรสุขภาพต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ สธ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)

นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เป็นการประชุมเพื่อหาทิศทางการทำงานด้านสุขภาพ ซึ่งจะเน้นในเรื่องการทำงานภาพรวมทุกองค์กร อย่างเห็นชัดเจนสุดคือ การแก้ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ปัญหาหนึ่งของเชื้อดื้อยา และยังเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้วยนั้น เรื่องนี้จะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาทำคงไม่ได้ ซึ่งขณะนี้องค์การสุขภาพต่างๆ กำลังดำเนินการอยู่ อย่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งมีการจัดการการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยจะมีการทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ที่มีศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธาน จะจัดทำเป็นคู่มือการดำเนินการให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันวันที่ 1 ตุลาคม 2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า เมื่อมีคู่มือ มีแนวทางแล้ว ทางสธ.ก็จะกำกับดูแลให้โรงพยาบาลดำเนินการตามกรอบต่างๆ นอกจากนี้ ในส่วนของ สสส.จะทำหน้าที่ในการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ยาชนิดไหนมีข้อดี ชนิดไหนมีข้อเสีย ส่วน สปสช. ก็จะทำในลักษณะการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่สรพ.จะดูในเรื่องมาตรฐานสถานพยาบาลหรือเอชเอ (HA) ซึ่งจะนำเรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นเกณฑ์มาตรฐานด้วย ขณะเดียวกันหน่วยงานวิจัย อย่าง สวรส. ก็ต้องศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ยาสมเหตุสมผล ยาชนิดใดไม่ควรใช้ ต้องมีข้อมูลทั้งหมด

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยเป็นนโยบายหนึ่งในการดำเนินการ ซึ่งแต่ละภาคส่วนก็มีหน้าที่ในการทำอยู่แล้ว อย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็มีหน้าที่ของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญและฝากให้อย.ดำเนินการคือ ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เอ็นจีโอต่างๆ อย่าไปมองว่าเขาเป็นคนละฝ่าย แต่ต้องดึงมาทำงานร่วมกัน ขอความร่วมมือ อย่างเรื่องยาปฏิชีวนะที่มีปัญหา ก็ต้องรวบรวมมาดูและพิจารณา เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image