คณะกก.นโยบายสุขภาพระดับชาติ กับทิศทางปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย

“บ้านเรามักทำอะไรสวนทาง อย่างเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ มักไปมุ่งมาตรการที่รู้อยู่แล้วว่าได้ผลน้อย แต่ลงทุนมาก เช่น การรณรงค์ การจัดอีเวนต์ต่างๆ คนในแวดวงสุขภาพเรียกว่า Do-know gap ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่าประเทศรวยน้อยไม่ควรทำ แต่เราทำ ขณะที่ Know-do gap ซึ่งเป็นมาตรการที่รู้แน่นอนว่าทำได้ผล แต่ไม่ทำ อย่างการทำงานไม่ซ้ำซ้อน กำหนดทิศทางให้ชัดเจนในระดับประเทศ แต่จุดนี้กลับทำน้อยมาก…” ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนหนึ่งเปรยขึ้นเมื่อถูกถามถึงทิศทางการทำงานด้านสุขภาพของประเทศ

1-2 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูประบบสุขภาพเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการภายใน สธ. ที่มีการจัดเขตบริการสุขภาพขึ้น โดยกระจายอำนาจการบริหารไปที่ระดับเขต จัดแบ่งออกเป็นกลุ่ม โดยเขตละ 5-7 จังหวัด ทำงานในลักษณะแบ่งปันทรัพยากรทางการแพทย์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรียกว่าโรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็ก เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในบางพื้นที่และปัญหาขาดแคลนแพทย์

ผู้เชี่ยวชาญที่มักอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ รวมไปถึงลดปัญหาการกระจุกตัวของผู้ป่วยที่รอการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ให้บางกลุ่มรับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนได้ จนเกิดเป็น 12 เขตสุขภาพ ไม่รวมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดเป็นเขตสุขภาพที่ 13

รูปแบบดังกล่าวผู้บริหาร สธ. มักพูดเสมอว่า เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่พื้นที่ ไม่ใช่ทุกอย่างจะอยู่ที่ สธ.เพียงอย่างเดียว ขณะที่งบประมาณที่ลงไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลอยู่ก็จะมีการจัดสรรให้โรงพยาบาลโดยตรงเหมือนเดิม…เพียงแต่ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบางกรณีก็จะมีการพิจารณาผ่านเขตสุขภาพ ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับเขตเพื่อมาดูแลตรงนี้

Advertisement

คล้ายจะราบรื่น แต่ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เกิดคำถามว่า ที่ผ่านมางบประมาณกระจัดกระจายไปทั้งในส่วนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) งบส่งเสริมสุขภาพบางส่วนที่ สปสช.ดูแล ขณะเดียวกัน สธ.โดยกรมอนามัย และกรมควบคุมโรคยังดูในเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย และยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมากที่ใช้งบส่งเสริมสุขภาพ จึงไม่แปลกที่บางกลุ่มตั้งคำถามว่า แบบนี้แล้วการทำงานซ้ำซ้อนหรือไม่

หากพอจำกันได้ ในยุคของปลัด สธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เคยเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาติ” หรือ National Health Policy Board (NHPB) ทำหน้าที่กำกับทิศนโยบายสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงจัดระเบียบเส้นทางการเสนอนโยบาย แยกบทบาทและโครงสร้างของผู้ซื้อบริการ (สปสช.) ผู้ให้บริการ (รพ.ในสังกัด สธ.และอื่นๆ) ฝ่ายกำกับและตรวจสอบนโยบาย รวมถึงฝ่ายผู้ใช้บริการและฝ่ายสนับสนุนบริการ และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึง สสส. แนวคิดนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่างเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองกับ นพ.ณรงค์ เรื่องก็เงียบหาย แต่หากพิจารณาดีๆ เมื่อ นพ.ณรงค์เกษียณอายุราชการ และได้เข้ามาอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ย่อมต้องมีการปฏิรูประบบสุขภาพ และหนึ่งในนั้นคือการแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาติ”

แน่นอนว่าบางกลุ่มย่อมไม่เห็นด้วย เพราะอำนาจในการจัดการจะไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงองค์กรเดียว แต่การทำงานจะมีคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้กำหนดทิศทางด้านสุขภาพทั้งประเทศแทน ขณะที่กลุ่มเห็นด้วยก็มองว่า หากมีจริงจะทำให้การทำงานเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการฯกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นรองประธาน และมีปลัด สธ.เป็นเลขานุการ รวมถึงมีกรรมการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งปลัด สธ.ที่มีหน่วยบริการด้านสุขภาพ คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ กรมบัญชีกลาง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการ สปสช. เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนคณะกรรมการสุขภาพระดับจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

Advertisement

ล่าสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับลูกและได้ตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขขึ้น และเมื่อวันที่ 7 มกราคม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการฯในเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยแน่นอนว่าประเด็นการปฏิรูประบบการสาธารณสุขมีเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาติด้วย โดยอยู่ในข้อ 4 ของการปฏิรูประบบสุขภาพคือการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ ขณะที่ข้อ 1 การปฏิรูประบบบริการ ข้อ 2 ปฏิรูปงานส่งเสริมสุขภาพ ข้อ 3 ปฏิรูปการเงินการคลัง แน่นอนว่าทั้งหมดได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานเพื่อจัดทำรายละเอียด ขมวดให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ทันต่อโรดแมปของรัฐบาลภายในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน

การเดินหน้าปฏิรูปตามข้อต่างๆ นั้น ด้าน สธ. โดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. มีการประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อสานงานในข้อต่างๆ โดยในส่วนของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาตินั้น เคยมีคนตั้งคำถามว่าจะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือไม่ แต่ก็เกิดเสียงค้านขึ้นว่าไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากการทำงานของ สช.โดยภารกิจจะเป็นการรวบรวมปัญหาและหาทางออกจากสมัชชาสุขภาพและเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งในอนาคตสามารถเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายได้ เรียกว่าคล้ายๆ เป็นที่ปรึกษา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.โสภณเคยให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่ายังไม่มีรายละเอียด เพราะอยู่ระหว่างการศึกษา ขณะที่แนวทางการปฏิรูปอื่นๆ ก็เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการเงินการคลัง ซึ่งไม่ใช่แค่ประเด็นการหาแหล่งเงินอื่นๆ มาเพื่อช่วยให้ระบบมีความยั่งยืนเท่านั้น แต่ประเด็นค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุขในทุกวิชาชีพกว่า 20 วิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักเทคนิคทางการแพทย์ ฯลฯ ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยน ส่วนจะปรับเปลี่ยนอย่างไร อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งได้มอบหมายให้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ.ดูแล

งานนี้ปลัด สธ.ยังย้ำว่า ปฏิรูปค่าตอบแทนครั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและเหมาะสมจริงๆ

จากนี้คงมีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียที…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image