รายงานพิเศษ : ทรัพยากร”ยั่งยืน” ชู”เขาใหญ่-บางปะกง” โชว์อาเซียน

ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 2 (2nd ASEAN Conference on Biodiversity หรือ ACB2016) ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ ภายใต้แนวคิดหลักของงานคือ ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “Biodiversity for Sustainable Development” โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Center for Biodiversity) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยเรื่องการมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่จะจัดการเรื่องของการเก็บเอาไว้เท่านั้น แต่เรื่องของการจัดการ คือการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

เรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติให้ได้ สำหรับประเทศไทยนั้นมีหลายพื้นที่ที่สามารถนำไปอวดหรือไปแสดงในเวทีโลกได้ว่า มีการจัดการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพได้ดี คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ มีการแบ่งปันระหว่างชุมชนและทรัพยากรในธรรมชาติได้อย่างสมดุล ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อย มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร การเอาเปรียบธรรมชาติจนทำให้เกิดความเสียหาย และเสียสมดุล

เมื่อธรรมชาติเสียสมดุลแล้ว ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่นั้นๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดเป็นวงกว้าง

Advertisement

“เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกประเทศจะมีการแลกเปลี่ยนทั้งประสบการณ์ ความรู้สำหรับการทำงาน การดูแลและจัดการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันในภูมิภาคนี้” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า การประชุมความหลากหลายทางชีวภาพครั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมต่อจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดไปเมื่อ 5 ปีก่อน โดยเป้าหมายหลักของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ว่าด้วยการกระตุ้นการทำงานของประเทศต่างๆ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการเข้าถึง การแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพหรือการพึ่งพาอาศัยกันแบบยั่งยืน

นอกเหนือจากนักวิชาการ บุคลากรภาครัฐของสมาชิกประเทศอาเซียนที่จะเข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีภาคธุรกิจของแต่ละประเทศถูกรับเชิญมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งจะจัดเป็นเวทีเศรษฐกิจกับการเข้าถึงความหลากหลายทางชีวภาพแบบยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้มากกว่า 400 คน โดยเป็นผู้แทนจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับปลัดกระทรวง อธิบดีที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะภาคเอกชน ผู้ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากประเทศคู่เจรจา

เลขาธิการ สผ.บอกด้วยว่า สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ นอกจากมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนแล้ว จะมีการหารือถึงความก้าวหน้าและการดำเนินงานต่อไปด้านความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน ทบทวนปัญหาอุปสรรคและทิศทางของแผนการดำเนินงานและโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นความท้าทายในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน โดยมีประเด็นหลักการหารือ นำเสนอผลงาน และอภิปรายในการประชุมครั้งนี้ เช่น ธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ การรายงานโลกทรรศน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน วาระแห่งอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภายหลังปี ค.ศ.2015 กลไกทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

การบูรณาการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การเกษตร ป่าไม้ ประมง และภาคส่วนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว เหมืองแร่ อุตสาหกรรม และภาคส่วนที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การบูรณาการระหว่างอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ การเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรและองค์กรในภูมิภาคอาเซียน เรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ การริเริ่มที่ประเทศไทยประสงค์จะผลักดัน เช่น การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ในเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดน การจัดการพืชป่า สัตว์ป่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ประเด็นอุบัติใหม่ เช่น โรคติดต่อข้ามพรมแดน

หลังจากรายงานและแลกเปลี่ยนเนื้อหากันในห้องประชุมแล้ว สผ.ในฐานะเจ้าภาพจะนำสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดไปดูตัวอย่างการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน คนกับทรัพยากรอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เช่น วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในลุ่มน้ำบางปะกง การทำวนเกษตรใน จ.ฉะเชิงเทรา หรือเรื่องการทำธุรกิจแบบพึ่งพาระหว่างวิถีชาวบ้าน วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image