มส.เสนอ “สมเด็จช่วง” นายกแจงตั้งสังฆราช

มติโหวตที่ประชุม มส.เสนอเจ้าอาวาสวัดปากน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เลขาฯพศ.ชี้กลุ่มยื่นหนังสือชะลอการแต่งตั้งมีความคิดที่สุดโต่งด้านการเมือง

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีการประชุม มส. นัดพิเศษที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา เรื่องเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แหล่งข่าว มส.ระบุว่า ที่ประชุม มส.มีมติเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาฯศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ชะลอการดำเนินการพิจารณาชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในวันที่ 11 มกราคมนี้ไว้ก่อน เนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

(ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีมลทินเพราะปกป้องพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คณะผู้ออกมายื่นหนังสือดังกล่าวเป็นคณะบุคคลเดิมที่แปลงร่างมาจากคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ที่มีความคิดที่สุดโต่งด้านการเมือง โดยคนกลุ่มนี้ไม่เคยยกย่องพระสงฆ์ ส่วนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องของเบื้องบน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งนัยของกฎหมายชัดเจนไม่ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ กล่าวคือ มส.เรียกประชุมเพื่อขอความเห็นชอบเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และมีมติเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวต่อว่า ในคราวที่สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ก็ปฏิบัติโดยมีต้นเรื่องจาก มส.ก่อนเช่นเดียวกัน กฎหมายประเพณีการปฏิบัติมีอยู่แล้ว ส่วนข้อขัดข้องว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ไม่ควรได้รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากปกป้องพระธัมมชโยนั้น คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเองทั้งหมดเพื่อต้องการให้ท่านมีมลทิน สิ่งที่คนกลุ่มดังกล่าวพยายามสร้างภาพลบให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่มีผลต่อการเสนอชื่อสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด จึงขอให้คนกลุ่มดังกล่าวหยุดสร้างความเสียหายให้กับคณะสงฆ์ หยุดใส่ร้ายป้ายสีพระมหาเถรผู้ใหญ่ที่คณะสงฆ์และชาวพุทธเคารพนับถือ และหยุดก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของคณะสงฆ์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

Advertisement

นายชาญณรงค์ บุญหนุน นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า การเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช กฎหมายระบุชัดเจนว่า มส.เป็นต้นเรื่อง ตามขั้นตอน มส.จะเสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์และอาวุโสสูงสุดเพียงรูปเดียว เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมแล้ว หากมีการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในขั้นตอนการเสนอนามจะเป็นขั้นตอนของคณะสงฆ์ ฆราวาสที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรเข้ามายุ่ง แม้แต่รัฐบาลยังไม่เข้ามาก้าวก่ายหน้าที่ของสงฆ์ ส่วนปัญหาที่เกิดขณะนี้เพราะมีกลุ่มคนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาจุดประเด็นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย โดยมีนัยทางด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดหากคนกลุ่มดังกล่าวจุดประเด็นไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นไม่สามารถตกลงกันได้ การปกครองคณะสงฆ์อาจกลับมาสู่วังวนเดิมคือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างเว้นลง โดยมีเพียงตำแหน่งประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชปฏิบัติหน้าที่แทนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เป็นส่วนสำคัญ

“สถานการณ์การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 มีอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หากมีการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพราะมองว่าท่านปกป้องพระธัมมชโย หากเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจมีการเสนอให้ตั้งสมเด็จพระสังฆราช 2 รูป เพื่อแบ่งแยกการปกครองระหว่างธรรมยุตและมหานิกาย แต่ก็ยังเป็นเรื่องยาก ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการลากยาวตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อไม่ให้มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราช จนถึงวาระที่ผู้ที่มีอำนาจเห็นว่ามีฝ่ายที่สมควรจะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชถึงจะมีการสถาปนาก็เป็นได้” นายชาญณรงค์กล่าว

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือถึง สนช.ให้ชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ที่มหาเถรสมาคมจะประชุมกันในวันที่ 11 มกราคม เนื่องจากผิดขั้นตอนกฎหมายว่า “เดี๋ยวต้องดูสถานการณ์ ดูกฎหมาย ดูความเหมาะสม ถ้ายังมีปัญหา มีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องทำให้คลี่คลายให้ได้ก่อน”

Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีข้อเรียกร้องให้ชะลอการแต่งตั้งว่า “เราไม่เอาเรื่องนี้มาคิดหรอก ถ้าจะชะลอต้องตอบว่าเป็นเพราะอย่างอื่น ไม่ใช่เพราะกระแส ถ้าตอบว่าอะไรก็ตามที่ต้องชะลอเพราะกระแส มันจะต้องชะลอหมด เพราะจะมีคนพยายามสร้างกระแสขึ้นมาทุกเรื่อง ตั้งอธิบดีสักคน ย้ายนายอำเภอสักคนก็มีกระแส ดังนั้น ถ้าต้องชะลอก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุผลอื่นที่สังคมฟังขึ้น”

เมื่อถามถึงอำนาจในการชะลอการตั้งนายวิษณุกล่าวว่า “ตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การชะลอทำได้ เพราะมีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1.เป็นอำนาจของเถรสมาคม จะประชุมหรือไม่ประชุมกันเมื่อไหร่ก็ได้ จะเสนอก็ได้ ไม่เสนอก็ได้ แต่ถ้าไม่มาจากเขาจะเดินต่อไม่ได้ นี่คือชะลอขั้นที่ 1 ต่อมาคือ 2.เมื่อเสนอแล้วมาที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่านายกฯได้อะไรมาตั้งเสนอไปหมด และไม่ใช่ว่าทันที ต้องมีการตรวจสอบ เช่น การตั้งปลัด อธิบดี และอื่นๆ กรณีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชไม่เหมือนกรณีอื่นๆ ที่ส่งไปให้พระองค์ท่านทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็จบ แต่เรื่องนี้แม้พระองค์ท่านทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ไม่จบ

เพราะจะต้องมีการประกาศสถาปนา ต้องมีราชพิธี อย่าว่าแต่ตั้งสมเด็จพระสังฆราชเลย ตั้งเจ้าคุณสักองค์ที่ไม่ใช่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชาคณะก็ต้องมีพิธี จะประกาศเฉพาะวันเฉลิมพระชนมพรรษาคือต้องมีพระราชพิธีสถาปนา นอกจากนี้พระสังฆราชจะมีทีมงานของท่านที่เรียกว่า พระฐานานุกรมหลายรูปก็ต้องตั้งพร้อมกัน และจะต้องมีอารักษ์อ่านประกาศ ต้องประกอบราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือในพระที่นั่งอมรินทรฯ การจะเรียกคนมาที่พระที่นั่งได้ก็ต้องมีโอกาสสำคัญ และ 3.คือ พระราชอำนาจ จะโปรดเกล้าฯมาเมื่อใดก็แล้วแต่ วันนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับอะไรมาสักอย่าง จึงไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image