เอ็นจีโอยกปรากฎการณ์เอฟเวอร์ตัน ตัดเบียร์ออกจากสปอนเซอร์ หวังไทยใช้รูปแบบเดียวกัน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น  นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์(Alcohol Watch) กล่าวในเวทีเสวนา“น้ำเมากับกีฬา:บทเรียนจากยูโรสู่ไทย” จัดโดย สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(สสมท.) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์(Alcohol Watch) และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.)   จากปรากฎการณ์ชาวเอฟเวอร์ตัน เดินหน้าระดมทุนปลดโลโก้เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ออกจากหน้าอกเสื้อทีมฟุตบอลเอฟเวอร์ตันและกีฬาทุกประเภท ล่าสุดฝรั่งเศสสั่งแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร2016 เนื่องจากแฟนบอลเมาก่อเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรงทำลายภาพลักษณ์ ทำลายวงการกีฬา จนสุดท้ายในต่างประเทศประกาศไม่ยอมรับธุรกิจชนิดนี้ ขณะที่ไทยแม้เป็นเรื่องใหม่แต่ไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติ แต่ควรนำบทเรียนนี้มาศึกษาทบทวนเพื่อหาทางออกเนื่องจากกีฬาสร้างสุขภาพ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำลายสุขภาพ จึงไปด้วยกันไม่ได้

“ธุรกิจน้ำเมาใช้วิธีผูกขาด ปิดกั้นไม่ให้ธุรกิจอื่นหรือสินค้าแบรนด์อื่นที่ดีต่อสุขภาพ เข้ามาสนับสนุนการกีฬา ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ในเครือมีมากมายที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ดึงเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ เนื่องจากจุดประสงค์หลักต้องการสื่อสารการตลาด กระตุ้นทั้งทางตรงทางอ้อม ให้ประชาชนสนใจเกิดความรู้สึกใกล้ชิด ใช้กลยุทธ์ดึงเยาวชนให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทุ่มงบกว่าพันล้านเพื่อแลกกับการจดจำสินค้าและพักดีต่อผลิตภัณฑ์  อีกทั้งยังมีอิทธิพลและเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างแวดวงกีฬาทั้งระดับผู้บริหาร กรรมการฝ่ายต่างๆ จึงไม่แปลกที่จะสื่อสารง่าย ทุกสนามเต็มไปด้วยสินค้าของน้ำเมา ดังนั้นสมาคมกีฬาต้องปรับตัว ยิ่งปัจจุบันมีกองทุนกีฬาแล้ว จึงไม่ควรยอมตกเป็นเครื่องมือมอมเมาเยาวชนให้ธุรกิจน้ำเมาอีก  ส่วนกฎหมายควบคุมสุราที่มีอยู่ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด   และภาคธุรกิจเองต้องตระหนักไม่หากินกับกีฬา ไม่จงใจสื่อสารการตลาดทำให้วงการกีฬาแปดเปื้อน” นายคำรณ กล่าว

ผศ.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ  อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า   แบรนด์เบียร์นั้น ถือเป็นสินค้าอบายมุข  เมื่อไหร่ทุ่มงบสปอนเซอร์เงื่อนไขคือต้องมีโลโก้ปรากฎ ซึ่งกีฬาในไทยมีสปอนเซอร์ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อต่างๆเกินกว่าครึ่ง ขณะเดียวกันแม้สมาคมกีฬารับรู้ว่ามีผลให้เกิดการจดจำตราสินค้า สร้างความนิยม จูงใจให้อยากดื่ม ในอดีตก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขาดงบประมาณในการสนับสนุนนักกีฬา   แต่ปัจจุบันมีกองทุนกีฬา ซึ่งหักภาษีแบบเดียวกับ สสส.แล้ว ก็ควรใช้กองทุนนี้ แทนที่จะยอมธุรกิจน้ำเมามามีอิทธิพลกับการกีฬาได้อีก

“ธุรกิจน้ำเมาต้องมีจิตสำนึก อย่าหวังเพียงช่องทางสร้างแบรนด์ สร้างกำไรโดยไม่คำนึงผลกระทบ เลิกทำการตลาดโดยใช้วงการกีฬาทุกประเภทเป็นเครื่องมือ  ส่วนประชาชนต้องตื่นรู้ปรับวิธีคิด เปลี่ยนค่านิยม อย่ามองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่ภาครัฐต้องออกกฎกระทรวงห้ามขายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที สนามกีฬาของเอกชน ด้วย”ผศ.บุญอยู่ กล่าว

Advertisement

     

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image