จับเข่าคุย’หมอปิยะสกล’ทะลวงปม เลขาฯสปสช.

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

การสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ สปสช.) ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้ข้อยุติหรือต้องขยายเวลาออกไปอีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครและคัดเลือกแคนดิเดตไว้แล้วก็ตาม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “มติชน” ได้เข้าสัมภาษณ์ ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

มองเรื่องการสรรหาเลขาฯ สปสช.อย่างไร

วันนี้…เรายังอยู่ในกระบวนการสรรหา แต่สำหรับผมคิดว่าความแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นทั้งระบบสำคัญกว่า เพราะฉะนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายสำคัญ เมื่อลงไปสู่การปฏิบัติ เลขาธิการ สปสช.ก็สำคัญ เพราะต้องทำตามนโยบาย นั่นคือหลักการ เพราะถ้าประเทศใดเข้มแข็งทั้งระบบลงไป ประเทศนั้นจะเจริญ ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง ที่จริงเลขาธิการ สปสช.ก็สำคัญ

Advertisement

หากเทียบกับมหาวิทยาลัย อธิการบดีก็สำคัญ เพราะเป็นซีอีโอขององค์กรนั้น แต่ความจริงก็ยังมีสภามหาวิทยาลัยที่จะคอยกำกับอธิการบดีอยู่ อธิการบดีไม่ทำตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย ก็ต้องถูกปลดกลางอากาศเช่นกัน ฉะนั้นจะต้องเข้มแข็งทั้งระบบ จะไปบอกคนนี้สำคัญไม่ได้ ต้องสำคัญทั้งระบบด้วย กลับมาที่การสรรหาเลขาธิการ สปสช.ครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ การที่เราจะเลือกใครคนใดคนหนึ่งเข้ามา คนนั้นต้องเหมาะสม และทุกฝ่ายต้องยอมรับได้ เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามกระบวนการ

วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ อาจจะไม่ได้ข้อสรุป

ผมไม่ทราบครับ ก็แล้วแต่คณะกรรมการในวันนั้น ถ้าผมสั่งได้ ก็คงไม่เกิดปัญหาอย่างวันนี้ ฉะนั้นก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบครับ ผมพูดเสมอนะเวลาไปประชุมที่วงไหนๆ สิ่งที่ผมต้องการเห็นคือ ความร่วมมือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งคงต้องมีกันให้มากขึ้นในคณะกรรมการชุดนี้ ในต่างประเทศนั้น เขาให้ความสำคัญกับเรื่อง Trust มาก มีสูตรที่ใช้กันเป็นสากลว่า Trust เท่ากับ Credibility หมายความว่า “ความเชื่อใจ” เท่ากับ “เกียรติ” คูณด้วย “ความเชื่อถือ” Reliability หารด้วย ความเห็นแก่ตัว Selfish ในที่นี้ผมขอแปลว่า “อัตตา” ความเป็นพวกพ้องของตัวเอง เมื่อใดความเป็นพวกพ้องใหญ่มาก ในประเทศนี้เป็นแบบนี้กันหรือเปล่า ก็ดูเอา เพราะฉะนั้น ถ้าอัตตาสูงมาก ความเชื่อใจก็ลดลงมาก เมื่อใดอัตตาลดลง ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประเทศชาติ อัตตาตรงนี้จะค่อยๆ ลดลง ถ้าลดไปจนถึง 0 เมื่อใด Trust ก็จะเท่ากับ Infinity คือไม่มีที่สิ้นสุด ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะเป็นแบบนี้ ทำอย่างไรกรรมการในบอร์ด สปสช.จะเป็นแบบนี้

Advertisement

บอร์ด สปสช.ต้องเป็นอย่างไร

ก็ต้องทำให้อัตตาน้อยลง มองภาพรวมให้มากขึ้นมองถึงประเทศไทย มองถึงว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องก้าวไปข้างหน้า ถ้าคิดว่าจะต้องทำแบบฉัน ข้างล่างก็ลงเอยกันไม่ได้ ฉันเลือกคนนี้เพราะเขาเป็นคนของฉัน แต่สำหรับผมนั้น ผมมีหลักการอย่างหนึ่งคือ “ไม่มีคนของผม” ลองไปตรวจสอบประวัติการทำงานของผมได้ผมไม่เคยลงไปยุ่งเวลาที่เขาเลือกตั้งกรรมการชุดใดๆ แต่คนก็พยายามหาว่าผมสามารถไปสร้าง ไปโน้มน้าวให้เขาทำตามได้ ตั้งแต่เป็นคณบดี เป็นอธิการบดี ของมหาวิทยาลัย เลือกหัวหน้าภาคกัน ผมไม่เคยไปยุ่งหรือไปบอกให้กรรมการเลือกคนนั้นคนนี้คุณเลือกกันเอง ผมทำงานกับทุกคนได้ ถ้าทุกคนทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นความเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ หากมีทั้งเกียรติ มีทั้งความเชื่อใจ และมีอัตตาน้อยๆ ผมต้องการแบบนี้ในกรรมการบอร์ด สปสช.เพิ่มขึ้น ขอให้มองภาพใหญ่ว่า ประเทศนี้ต้องการคนทำงานเพื่อระบบสุขภาพของประชาชน คนที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นคนนั้น ไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นคนของฉัน ผมขอประกาศเลยว่า คุณไม่ต้องมาหวังว่าผมจะลงคะแนน 2 ครั้ง ถ้าในการสรรหากรรมการมีการให้คะแนนที่เท่ากัน เพราะมันไม่เคยอยู่ในสารบบของผมแน่นอน

เลขาธิการ สปสช.ควรมีคุณสมบัติอย่างไร
ก็ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น คือ ต้องมีเกียรติ คนต้องเชื่อถือ มีวิจารณญาณ มีปัญญา มองภาพรวมเห็น แก้ปัญหาประชาชนเป็นหลัก สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น สามารถขับเคลื่อนงานได้ เพราะบางคนคิดอย่างเดียว แต่ไม่ทำ พูดเก่ง แต่ทำไม่เป็น ฉะนั้น ต้องคิด พูด ทำ เก่ง และทุกอย่างที่ทำนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

มองเห็นหรือยังว่าคนนั้นคือใคร
ก็ต้องช่วยกันดูครับ ผมจะไปมองคนเดียวได้อย่างไร หลายคนเขาอยู่นานกว่าผม ก็ต้องให้ช่วยกันมองหา คุณต้องหาคนดีมาให้ผม

เคยพูดเรื่องนี้กับกรรมการบ้างหรือไม่

กรรมการส่วนหนึ่งเพิ่งเข้ามาใหม่แต่ก็เป็นคนเก่าๆ ที่เคยทำงานกันมาแล้วทั้งนั้น เขาอยู่นานกว่าผมมาก สิ่งที่ผมเข้าไปคือ สร้างสิ่งใหม่ว่า เชื่อใจกันนะอย่าแบ่งฝ่ายนะ ผมมา ผมไม่มีพวกใครนะ เพราะขืนเป็นพวกใคร ประเทศนี้งานจะเดินไปไม่ได้ ผมบอกตั้งแต่แรกที่เข้าไปเลยว่า สปสช.อยู่โดดเดี่ยวไม่ได้นะ ต้องทำงานกับตระกูล ส.ทั้งหลาย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผมพูดแบบนี้กับกรรมการและเลขาธิการ สปสช.เสมอ และทำให้เห็นแล้ว

กรรมการมีทัศนคติที่ดีกับแนวทางนี้

เราปรับเปลี่ยนเขาไม่ได้ เขาจะต้องเปลี่ยนตัวเอง เราได้แต่ทำให้เขาเห็น ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มเห็นการทำงานที่ร่วมกันและมองในภาพรวมมากขึ้น

แสดงว่าจะเห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น

ผมเห็นภาพว่า ทุกคนที่เข้ามาเป็นกรรมการบอร์ดเป็นคนเก่ง ทุกคนมีประสบการณ์สูง ทุกคนมุ่งหวังให้ระบบสุขภาพของประเทศดีที่สุด แต่แนวคิดอาจจะแตกต่าง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือ “ฟัง” และสามารถจะสรุปภาพรวมออกมาเป็นหนึ่งได้ และมุ่งไปในทางเดียวกัน เพราะทุกคนหวังดีอยู่แล้ว นั่นคือ สิ่งที่ผมคิดว่าไม่นานเกินรอ เดี๋ยวนี้ก็เห็นภาพนี้แล้ว เพียงแต่ขอให้ผ่านพ้นการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ไปก่อน ผมไม่หวังไกล ขอสรรหาเลขาธิการ สปสช.ให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยมาขับเคลื่อนงานกัน ผมเป็นคนประเภทไม่ชอบยื้ออยู่ตรงนั้น เพราะผมมาทำงานให้ประเทศ ไม่ได้มาเล่น

ถ้าไม่มีเลขาธิการ สปสช.งานสะดุด

ไม่มีสะดุดหรอก งานของ สปสช.ก็ยังดำเนินการต่อไป คนที่เป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช.ก็ต้องทำไปและบอร์ด สปสช.ก็ยังอยู่

ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่

ผมทำงานได้ 10 เดือน และเพิ่งรายงานผลการทำงานด้านสาธารณสุขในรอบ 6 เดือน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา อย่างที่บอกนะครับ ผมมาเพื่อปรับและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ที่เห็นแล้วคือ ความขัดแย้งภายในกระทรวงเกือบจะไม่มี ในขณะนี้ เรื่อง สปสช.มี เพราะยังสรรหาเลขาธิการ สปสช.ไม่ได้ ถ้าได้แล้วคงจะราบรื่นขึ้น ส่วน สสส.ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ไปกันได้แล้ว ซึ่งผมได้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ., สสส. และ สปสช.ด้วย เพราะต้องบูรณาการการทำงานกันทั้งหมด

“สิ่งที่ควรจะเห็นผลก็เห็นภาพชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image