“หมอประทีป” วืดเก้าอี้เลขาฯ สปสช. กก.สัดส่วนภาคปชช.ร้องวุ่นคะแนนมีปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาความขัดแย้งการเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คนใหม่แทน นพ.วินัย สวัสดิวร ที่หมดวาระไปเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยมีแคนดิเดตเข้าชิง 2คน คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จนมีการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า นพ.วันชัย ไม่มีคุณสมบัติเพราะขัดมาตรา 32 (12) เรื่องเป็นคู่สัญญาสปสช. จนกลายเป็น นพ.ประทีป ลอยลำเข้ารับตำแหน่ง แต่ปรากฎว่ากลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมืองไทย นำโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ตัวแทนกลุ่มฯ ร้องเรียนต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) พิจารณาชะลอการรับรอง นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการฯ เพราะอาจขาดคุณสมบัตินั้น จนเกิดกระแสจับตาผลการประชุมบอร์ดสปสช. วันที่ 4 กรกฎาคม ว่าจะมีการรับรองตำแหน่งหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 4 กรกฎาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) วาระพิจารณาการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ผ่านการพิจารณาและเหลือเพียงการรับรองเข้ารับตำแหน่งจากกรรมการบอร์ด โดยเป็นการลงคะแนนเสียงลับ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมมีการพูดถึงประเด็นข้อร้องเรียนของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ตัวแทนประชาคมสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าควรรอผลการตีความกฤษฎีกาเรื่องคุณสมบัติก่อน แต่ในที่ประชุมระบุว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นมติให้ดำเนินการควบคู่กัน ทั้งนี้ โดยที่ประชุมได้ให้ นพ.ประทีป มาแสดงวิสัยทัศน์ ประมาณ 20 นาที และเปิดให้กรรมการซักถาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงคะแนนเสียงนั้น จะมาจากการลงคะแนนเสียงเป็นความลับ โดยมีบัตรให้ลงคะแนนและใส่กล่องเพื่อนับคะแนน ซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงเป็นกรรมการ สปสช. ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 30 คน ซึ่งต้องมีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง นพ.ประทีป จึงจะได้รับการแต่งตั้ง แต่ปรากฎว่า นพ.ปิยะสกล ในฐานะประธานบอร์ดฯ ขอไม่ลงคะแนนเสียง ขณะที่ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยต้องออกจากที่ประชุมก่อน และไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนน แต่ นพ.ปิยะสกล กลับโต้แย้งเรื่องนี้ว่า จริงๆ ในส่วนของผู้แทนกระทรวงมหาดไทยสามารถลงคะแนนเสียงได้ เพราะขณะเลือกตั้ง อยู่ต่างประเทศยังลงได้เลย เพราะอะไรฝ่ายกฎหมายของสปสช. จึงไปตกลงกันเองเช่นนี้ แทนที่จะแจ้งประธานบอร์ดฯ แต่ทำเช่นนี้ถือว่าบกพร่อง เพราะไม่แจ้งที่ประชุม และไม่แจ้งรายละเอียดกับผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ทำให้ขาดสิทธิ จึงเหลือผู้มีสิทธิลงคะแนน 28 เสียง แต่ในกล่องมีผู้ไม่ลงคะแนนเสียงอีก 1 คน กลายเป็นเหลือ 27 เสียงเท่านั้น

ปรากฎว่า ผลการลงคะแนนเสียงรับรองหรือไม่รับรอง นพ.ประทีป นั้น สรุปคือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ไม่รับการรับรองเป็นเลขาธิการ สปสช. ด้วยคะแนนเสียง 14 เสียง แต่รับรอง 13 เสียง ซึ่งขาดเพียง 1 เสียงเท่านั้น แต่กรรมการส่วนภาคประชาชน คือ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล แย้งว่า 1 เสียงที่ลงคะแนนไม่รับรอง กาสัญลักษณ์ถูก แทนกากบาท ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยมีการหารือในการประชุมว่า ต้องดูเจตนาก่อน ซึ่งที่ประชุมลงความเห็นว่า ไม่ถือว่าผิดถึง 18 เสียงจาก 28 เสียง เพราะดูตามเจตนารมย์ แต่ น.ส.สารี และ น.ส.กรรณิการ์ แย้งว่า ตนในฐานะกรรมการ ขอไม่รับรองอยู่ดี

Advertisement

ก่อนหน้ามีการพิจารณาลงคะแนนเสียง เพื่อรับรองหรือไม่รับรองตำแหน่ง นพ.ประทีป นั้น ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ว่า สำหรับวิสัยทัศน์ และการปรับบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของ สปสช. ในครึ่งหลังของทศวรรษที่สอง ได้จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานของ สปสช.ในอนาคต 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2564 เพื่อรองรับภารกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545โดยต้องเป็นไปในลักษณะ “โกลแอนด์โกรว์ธ (Goal&Growth)” โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของงานหลักประกันสุขภาพ คือ 1.บุคคลทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเน้นคนไทยทุกคนได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการสาธารณสุข คนชั้นกลาง คนเขตเมืองเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น โดยเฉพาะะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาคนเมืองจะได้รับบริการเฉพาะโรคค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ต้องทำให้คนกลุ่มเป้าหมายนี้ได้รับประโยชน์ และผู้สูงอายุ
รวมทั้งต้องมีการพัฒนาระบบให้รองรับกลุ่มบอบบาง เช่น คนยากจน คนชายขอบ ผู้ต้องขัง ต้อได้รับการบริการสิทธิสุขภาพอย่างทั่วถึง

นพ.ประทีป กล่าวว่า 2. สนับสนุนส่งเสริมระบบบริการ คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการอย่างเต็มที่ เพื่อขยายการบรการโดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเน้นคนในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 3.การปฏิรูปแผนการจัดการกองทุน โดยเฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรลงไปยังโรงพยาบาล ต้องไม่เป็นภาระกับโรงพยาบาล สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน และมีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้ให้บริการ โดยขณะนี้มีการเสนอแนวทางการจัดสรรงบเหมาจ่ายแบบขั้นบันได ซึ่งตนเห็นด้วยที่การจัดสรรงบลักษณะดังกล่าวจะมาช่วยแก้ปัญหาการเงินขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล รวมไปถึงจะต้องหาแหล่งเงินเพิ่มขึ้นใน 3-4 ปี โดยเฉพาะการร่วมจ่ายที่มีหลักการคือ การร่วมจ่ายก่อนเข้ารับบริการ เช่น การจัดเก็บภาษี เป็นต้น

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ส่วนการร่วมจ่ายเมื่อรับบริการก็ต้องเป็นลักษณะจ่ายเพิ่มเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งตรงนี้จะช่วยดึงให้คนชั้นกลางหรือคนเมืองเข้าถึงระบบบริการเพิ่มขึ้น 4.การมีส่วนร่วมโดยเฉพาะท้องถิ่นหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ในการจัดการปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ และ 5.ต้องทำให้ สปสช.เป็นหน่วยงานรัฐแบบใหม่ที่ประสิทธิภาพ ไม่เหมือนส่วนราชการทั่วไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image