สภากทม.มีมติตั้งคกก.วิสามัญศึกษา “บีอาร์ที” หลังพบเดินรถขาดทุนกว่าพันล้าน

สภากทม.มีมติตั้งคกก.วิสามัญศึกษา “บีอาร์ที” หลังพบเดินรถขาดทุนกว่าพันล้าน

 

วันนี้(6 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีการประชุมสภากรุงเทมหานคร(กทม.) สมัยประชุมสามัญสมัยที่3(ครั้งที่1) ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยมี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุม มีนายจุมพล สำเภาพล นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุม

 

Advertisement

นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากทม. ได้เสนอญัตติขอให้สภากทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและทบทวนการดำเนินการโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สาย402 สาทร-ราชพฤกษ์ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง ที่บริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) มีระยะเวลาสัญญาจ้าง 7 ปี (2553-2560) ภายใต้วงเงิน 2,009.7 ล้านบาท เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2553 โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 18,000 เที่ยวต่อคนต่อวัน ทำให้กทม.มีรายรับจากการเดินรถประมาณ 199.8 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายปีละประมาณ 1,237.6 ล้านบาท ส่งผลให้กทม.จะต้องจ่ายชดเชยให้ผู้รับจ้างเดินรถตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงิน 1,037.8 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ กทม.ยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการปรับปรุงการเดินรถบีอาร์ที เพื่อพัฒนาโครงการเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลในระยะยาว โดยการใช้สถานีเดิมซึ่งยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมในการขยายเส้นทางบีอาทีเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หลังสิ้นสุดสัญญาจ้างเดินรถในระยะแรก รวมทั้งศึกษาแนวทางการปรับลดค่าใช้จ่ายและการปรับปรุงรถบีอาร์ทีให้สามารถใช้งานได้ในระยะสั้น 3 – 5 ปี จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและทบทวนโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการฯ จำนวน11ราย โดยมีระยะเวลาศึกษา 120 วัน

Advertisement

 

นอกจากนี้ กทม. ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภา กทม.ได้เสนอญัตติขอให้สภากทม. พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการกทม.ให้มีประสิทธิภาพ โดยระบุว่า ปัจจุบันการแต่งตั้งข้าราชการของกทม.มีปัญหาข้อติดขัดหลายประการ การแต่งตั้งข้าราชการในแต่ละระดับล่าช้า ไม่สามารถแต่งตั้งบุคคลมาแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากนับจากสิ้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีตำแหน่งว่างจำนวนมาก เช่น ผู้อำนวยการเขต เป็นต้น รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกใช้เวลานานส่งผลต่อการบริหารงาน การดำเนินงาน การให้บริการประชาชน จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ขึ้นเพื่อปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าวและตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการกทม.ให้มีประสิทธิภาพ จำนวน 13 คน แบ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จำนวน 8 คน ฝ่ายบริหาร จำนวน 5 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณาภายใน 120 วัน

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image