มาดูกัน! ปริมาณโซเดียม กินอย่างไร ส่งผลต่อความดันโลหิตน้อยที่สุด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

หมอรามาฯแนะ “กินจืดยืดชีวิต” ลดปัญหาความดันโลหิตสูง ภัยร้ายก่อโรคใกล้ตัว

ปัจจุบันปัญหาการบริโภคอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด ยังคงเพิ่มขึ้น แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ข้อมูลอันตรายจากการบริโภคแล้วก็ตาม เห็นได้จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบผู้ป่วยโรคไตประมาณ 50,000 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 7,500 คนต่อปี

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยยังคงบริโภคอาหารเค็มมากกว่าค่ามาตรฐาน เนื่องจากวิถีชีวิตของคน โดยเฉพาะคนทำงาน มักไม่สามารถเลือกรับประทานอาหารที่เค็มน้อยได้ ทั้งๆ ที่หากดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่ต้นๆ จะลดโอกาสเสี่ยงการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งก่อให้เกิดโรคไตในอนาคตได้

“ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงพบได้ตั้งแต่อายุ 35 ปี พบได้ 1 ใน 5 หรือประมาณ 20% ซึ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่นั้น เพราะการกินเค็มจะมากับการกินหวาน กินมันควบคู่กันไป เนื่องจากจะได้รสที่กลมกล่อม ทำให้สุดท้ายมีน้ำหนักเกินและอ้วนในที่สุด หนำซ้ำในบางรายหากมีความไวต่อเกลือ ก็มีโอกาสตัวบวม หน้าบวม น่องโต และมีโอกาสเป็นโรคไต โรคหัวใจได้เร็วขึ้น อย่างโรคไต เดิมทีจะพบได้ในคนอายุ 50 ปี แต่ขณะนี้พบอายุน้อยลง 40 ปีก็มี” ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว

Advertisement

ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง หากลดเค็มลงได้ก็ไม่ต้องกินยาลดความดัน ดังนั้น การบริโภคอาหารก็ต้องระมัดระวัง อย่างการกินข้าวนอกบ้าน ส่วนใหญ่จะปรุงอาหารรสจัด เค็มอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นรสอาหารที่คนไทยนิยมบริโภค ไม่ว่าจะเป็นพวกไส้กรอก อาหารแปรรูปต่างๆ อาหารแช่แข็ง จะมีความเค็มมากกว่าปกติถึง 5 เท่า ขนาดน้ำจิ้ม 1 ถ้วย ยังเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ยากเกินไป โดยปกติแล้วไม่ควรกินน้ำปลาเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งมีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม โดยหากจำกัดตรงนี้ได้ก็ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคได้

ทั้งนี้ นอกจากลดเค็มแล้ว ยังต้องลดหวานเพื่อป้องกันโรคเบาหวานก็เป็นสิ่งสำคัญ โดย รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์จัดทำคู่มือให้ความรู้เรื่องโรคไต แนะนำว่าระดับความดันโลหิตปกติ ค่าบนจะอยู่ที่ 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรลงมา ขณะที่ค่าล่างจะอยู่ที่ 80 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนระดับความดันโลหิตค่อนข้างสูง จะมีค่าบนตั้งแต่ 121-139 และค่าล่างระหว่าง 80-89 ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ และลดการรับประทานเค็ม

ขณะที่ระดับความดันโลหิตสูงมาก ค่าบนจะอยู่ที่ 140-159 ค่าล่างที่ 90-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องพบแพทย์และลดบริโภคเค็ม แต่ที่ต้องระวังที่สุดคือระดับความดันโลหิตระดับอันตรายคือ ค่าบนสูงตั้งแต่ 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และค่าล่างสูงตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องพบแพทย์โดยด่วน และลดกินเค็ม

ทั้งนี้ เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ก็จะมีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน อย่างเกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม ผงปรุงรส 1 ช้อนชา มีโซเดียม 950 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนชา มีโซเดียม 400 มิลลิกรัม เป็นต้น

ภาพจากรพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
ภาพจากรพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image