เบื้องหลังปมขัดแย้ง สรรหาเลขาธิการ สปสช.

เลือกเลขาธิการ สปสช.

ภาพของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะเคลียร์ใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เกิดขึ้นหลังเกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากบอร์ด สปสช.ไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. เป็น เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ทั้งๆ ที่ นพ.ประทีป ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน

คะแนนไม่รับรอง 14 ต่อ 13 เสียง ที่เฉือนกันเพียง 1 คะแนน จึงกลายเป็นประเด็น ที่สำคัญ 1 เสียงที่ชนะนั้น กลับถูกกรรมการในบอร์ดส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเสียงมีปัญหา ด้วยเหตุผู้ลงคะแนนใส่เครื่องหมายไม่ถูกต้องตามกติกา

ที่ประชุมวันนั้นใช้วิธีลงคะแนนลับ ไม่มีใครรู้ชัดว่า ใครลงคะแนนช่องไหน แต่ทั้ง นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า 1 เสียงในบัตรลงคะแนนที่ใช้เครื่องหมาย “ถูก” แทน เครื่องหมาย “กากบาท” ถือว่าผิดกติกา และบัตรลงคะแนนใบนั้นควรนับเป็นบัตรเสีย ทว่า…ที่ประชุมกลับมีมติให้เป็นบัตรดี ปัญหาจึงเกิดและบานปลายกลายเป็นประเด็นการเมือง

Advertisement

ปัญหานี้ แม้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะกรรมการบอร์ด สปสช.จะยกมือชี้แจงต่อที่ประชุมว่า บัตรเจ้าปัญหานั้น เป็นของตนเอง และตั้งใจกาเครื่องหมายถูกลงในช่องไม่รับรอง แต่ไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝง แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ แม้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการในสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน พยายามชี้แจงทำความเข้าใจในที่ประชุมเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ก็ไม่เป็นผล

เรื่องนี้ นพ.สุรเดชให้สัมภาษณ์เปิดใจว่า ทุกอย่างจบตั้งแต่วันประชุมบอร์ด สปสช.แล้ว เพราะได้ยืนยันในที่ประชุมชัดเจนว่าไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากพิจารณาว่าจะ “รับรอง” หรือ “ไม่รับรอง” เลขาธิการ สปสช.เท่านั้น

“ดังนั้นเรื่องบัตรดีบัตรเสีย เมื่อมติที่ประชุมบอกว่าใช้ได้ถึง 18 เสียง ก็ต้องยอมรับ เพราะกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดระเบียบการกาเครื่องหมายชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการให้ข้อมูลต่างๆ กับใคร เป็นสิ่งทำได้ แต่การคิด พิจารณา หรือตัดสินใจก็ต้องอยู่ที่วิจารณญาณ ซึ่งกรรมการบอร์ด สปสช.ก็มีวิจารณญาณของตัวเองเช่นกัน” นพ.สุรเดชกล่าว

Advertisement

แต่แม้ นพ.สุรเดชจะชี้แจงอย่างไร ชมรมแพทย์ชนบท รวมทั้งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ก็ยังมองว่าไม่ถูกต้องอยู่ดี เพราะบอร์ด สปสช.ชุดนี้ ยังทำหน้าที่ขัดมาตรา 31 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า บอร์ดมีหน้าที่ในการแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. กรณีนี้ นพ.ประทีปที่เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวเข้ามาสู่การพิจารณาเพื่อขอการรับรองแต่งตั้ง ก็ควรได้รับการแต่งตั้งด้วย แต่กลับมีการลงมติซึ่งถือว่าขัดกฎหมาย และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องหากผู้รับผลกระทบ

เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 90 วัน หรืออาจทำหนังสือขอทราบมติและเหตุผลของบอร์ดที่ไม่รับรองตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอตัวบุคคลมาให้

ประเด็นนี้ จากการสอบถามผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการ สธ.ทราบข้อมูลว่า ได้มีการหารือไปยังฝ่ายกฎหมาย และผู้แทนกฤษฎีกา ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีแคนดิเดต 2 คน และมีการตกลงกันว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนพิจารณารับรอง แต่เมื่ออีก 1 คน คือ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.ขาดคุณสมบัติ และเหลือแคนดิเดตเพียง 1 คน ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณารับรองหรือไม่รับรองเช่นกัน

ขณะนี้เรื่องดังกล่าวจึงกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุข เพราะมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขับเคลื่อนงานของ สปสช. เป้าจึงพุ่งไปที่ นพ.ปิยะสกล จะมีวิธีในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างไร เพราะหากสุดท้ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน อาจลุกลามจนถึงขั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้ ม.44 แต่งตั้งเลขาธิการ สปสช.แทน

แต่ล่าสุด นพ.ปิยะสกลประกาศชัดเจนว่า จากนี้จะต้องเริ่มต้นสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ และใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่จะมาลงชิงตำแหน่งอาจเป็นคนนอกจากสายมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช. แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ “ระบบ” ที่การทำงานที่ต้องเอื้อกันทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึง “ประชาชน” 48 ล้านคน แน่นอนว่าในเวลาอันใกล้นี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างของบอร์ด อำนาจของเลขาธิการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.กำกับดูแล แต่ไม่ได้บังคับบัญชา สปสช. เพื่อให้มีความยั่งยืนของระบบการเงินการคลัง เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี

แต่ประเด็นเร่งด่วนคือ จะมีการแก้ไขมาตรา 46 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ คือการแยกเงินเดือนของบุคลากร สธ.ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว กล่าวคือ เดิมมีงบกองทุนบัตรทองประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เป็นเงินเดือนบุคลากรที่ 4 หมื่นล้านบาท ต้องแยกส่วนนี้ออก และให้ สธ.ดูแล ซึ่งจะเหลือเงินกองทุนบัตรทองแสนล้านบาท ก็จะนำมาจัดสรรแบบขั้นบันได หลักการคือ จะไม่เท่ากันทั่วประเทศ เพราะดูตามความจำเป็นและบริบทของแต่ละพื้นที่

เรื่องนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนับสนุนให้มีการแก้ไข เพราะเดิมกำหนดให้รวมเงินเดือนบุคลากร สธ.เข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่ง ม.46 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ (ฉบับแก้ไข) นั้น ได้แยกเงินเดือนบุคลากรออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง โดยอยู่ระหว่างการส่งให้ประธาน สนช.พิจารณา และตีความว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ถ้าใช่อาจต้องส่งให้ สธ.เป็นผู้เสนอแทน

ประเด็นใหญ่แบบนี้ ต้องติดตามต่อไป!

13643786_731825580292981_704632185_n

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image