เครือข่ายสุขภาพฯเดินหน้าป้อง ‘หมอประทีป’ ขอ ‘บิ๊กตู่’ ให้ความเป็นธรรม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 กรกฎาคม  ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล  กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย ฯลฯ  เดินทางยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและพิจารณาการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยมี  นายยศพงษ์ งามรัตนไพบูลย์ นิติกรปฏิบัติการประจำศูนย์บริการประชาชน

นายสมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักษ์หลักประกันสุขภาพ  กล่าวว่า  ขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบและพิจารณายกเลิกมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กรณีการสรรหาเลขาธิการ สปสช.วันที่  4 กรกฎาคม เป็นโมฆะ  เนื่องจาก 1.การดำเนินการคัดเลือกใช้ระบบการลงคะแนนลับ ในขณะที่ลงคะแนนมีการฉาย LCD ให้ใช้เครื่องหมายกากบาท (X) บนจอตลอดเวลาและเขียนชัดเจนในบัตรลงคะแนน ให้ทำสัญลักษณ์ (X) แต่มีกรรมการหนึ่งท่านใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ซึ่งควรถูกตีความว่าเป็น “บัตรเสีย” แต่กลับใช้เสียงข้างมากลงมติว่าเป็น “บัตรดี” ซึ่งไม่สอดคล้องกับกติกาที่เห็นและเขียนในเอกสาร นักกฎหมาย สปสช. ที่จัดการลงคะแนนเห็นว่าเป็นบัตรเสีย แต่ไม่กล้าพูดในที่ประชุม

2.ประธานที่ประชุม สั่งให้มีการลงมติรับรองเจตนารมณ์ของบัตรดังกล่าว โดยเสียงข้างมากลงมติยืนยันว่า “เป็นบัตรดีที่ไม่รับรองการคัดเลือกเลขาธิการ” การลงมติรับรองเจตนารมณ์ของบุคคลอื่น ในการใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก”ทำได้หรือไม่ เพราะกรรมการที่ไปรับรองว่าบัตรนั้นเป็นบัตรดี เท่ากับเป็นการรับรองการตัดสินใจของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นไปตามมติที่ให้คัดเลือกโดยการลงคะแนนลับ นับเป็นการลงคะแนนแบบรวมหมู่  3.มีกรรมการแสดงตนว่า เป็นผู้ใช้สัญลักษณ์ “ขีดถูก” ย่อมเป็นการเปิดเผยผลการลงคะแนน ทำให้มติที่ประชุมที่ใช้ระบบการลงคะแนนลับ ไม่เป็นความลับอีกต่อไป กระบวนการคัดเลือกจริงไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม ย่อมเป็นโมฆะไปด้วย

4.ขณะนี้ มีประเด็นข้อกฎหมายว่า การคัดเลือกเลขาธิการจะต้องกระทำการเพียงการพิจารณาทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ เนื่องจากมีผู้ผ่านการสรรหาเพียงหนึ่งคน ตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การดำเนินการเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม จึงอาจขัดต่อกฎหมาย 5.ที่ประชุมยังใช้เสียงข้างมากด้วยการโหวต ไม่ให้บันทึกเสียงข้างน้อยในสรุปมติที่ประชุม แต่ให้ไปใส่ไว้ในรายงานการประชุมเท่านั้น ซึ่งผิดกฎหมายในการรับรองเสียงข้างน้อย

Advertisement

6.ในประเด็นที่มีข้ออ้างว่า หากที่ประชุมคัดเลือกผู้สมัครแล้วได้คะแนน 14:13 จะไม่สามารถทำงานได้เพราะเสียงต่างกันเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น ในอดีตการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. สมัย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ สมัยที่ 2 ก็ได้รับเลือกภายใต้คะแนนที่ประธานต้องชี้ขาด ยังสามารถบริหารสำนักงานได้เป็นอย่างดี และ 7.กรรมการหลายคนพยายามเสนอให้ประธานลงคะแนนตัดสินใจ หรือให้ดำเนินการลงคะแนนลับอีกรอบ เพื่อแก้ปัญหาบัตรเสีย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ประธานเพียงแต่บอกว่า เสียงข้างมาก (ซึ่งรวมบัตรเจ้าปัญหาดังกล่าว)ไม่รับรองแล้ว ประธานไม่จำเป็นต้องลงคะแนนชี้ขาด

“เครือข่ายฯจึงขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และยกเลิกมตินี้เสีย  ซึ่งส่วนตัวยังคงเชื่อมั่นในตัว นพ.ประทีป  ว่าเป็นผู้มีความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพ และถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะออกมาระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังอยู่ แต่ทางเครือข่ายยังคงไม่มั่นใจในการกระบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นส่งสัญญาณว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงระบบ ทั้งการสรรหาเลขาธิการสปสช. รวมถึงการลงทะเบียนคนจน เพราะเกรงท้ายสุดทำให้ระบบหลักประกันเป็นระบบอนาถาอยู่ดี” นายสมชายกล่าว

S__10010672

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image