ลูกจ้าง’ไทยมาร์ท’มึน กรมบังคับคดีชี้ต้องฟ้องเรียกค่าชดเชยเอง

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เข้าพบ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม หารือถึงกรณีที่บริษัท ไทยมาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจศูนย์การค้าส่งสินค้าสำเพ็ง มีลูกจ้าง 380 คน ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ซึ่งล่าสุดมีการชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและเงินชดเชย โดย กสร.ต้องการทราบรายละเอียดว่าบริษัท ไทยมาร์ทฯจะยังคงมีการจ้างงานต่อไปหรือไม่

หลังการหารือ น.ส.รื่นวดีแถลงว่า หลังมีคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ทำให้บริษัท ไทยมาร์ทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงต้องปิดกิจการทั้ง 8 สาขา ซึ่งกรณีการจ่ายค่าจ้างนั้น ก่อนวันที่ 22 มกราคม ที่ศาลล้มละลายมีคำสั่ง ลูกจ้างต้องไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งลูกจ้างเป็นรายแรกที่จะได้รับการชำระหนี้ค้างจ่าย แต่ภายหลังตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมเป็นต้นไป ถือเป็นหนี้หลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ลูกจ้างต้องฟ้องร้องขอให้จ่ายเงินค้างจ่ายและค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง ส่วนกระบวนการฟ้องร้องเพื่อขอรับค่าจ้างค้างจ่ายที่เหลือและค่าชดเชยส่วนอื่นๆ นั้นต้องยื่นฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเป็นเจ้าหนี้ โดยสามารถยื่นฟ้องได้ทันที แต่ต้องรอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวล้มละลายเด็ดขาดก่อนจึงจะได้รับเงิน

ด้าน น.ส.พรรณีแถลงว่า หลังจากบริษัทเลิกกิจการแล้ว ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ซึ่งลูกจ้างสามารถยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวกับกรมบังคับคดีได้ และสามารถมอบอำนาจให้ กสร.ดำเนินการให้ได้ อีกทั้งภายหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว จะต้องฟ้องศาลเพื่อขอรับค่าจ้างส่วนที่เหลือและค่าชดเชยตามอายุงาน ซึ่งลูกจ้างสามารถมอบอำนาจให้ กสร.ดำเนินการให้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง ตามอายุการทำงานโดยอัตราต่ำสุด คือ ผู้ทำงาน 4 เดือน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้รับเงินชดเชย 1 เดือนของค่าจ้าง และอัตราสูงสุดกรณีทำงาน 10 ปีขึ้นไป จะได้เงินชดเชย 10 เดือนของค่าจ้าง นอกจากนี้ จะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 1 เดือน

น.ส.พรรณีแถลงอีกว่า หากลูกจ้างเดือดร้อนสามารถยื่นคำร้องได้ที่ กสร.เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์สงเคราะห์ลูกจ้าง โดยสำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกัน 120 วัน แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับ 30 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (วันละ 300 บาท) ส่วนผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับ 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งศาลดังกล่าว ทำให้นายจ้างไม่มีอำนาจในการบริหารงานบริษัทและจ่ายค่าจ้างอีกต่อไป แต่อำนาจจะตกไปอยู่กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ทั้งนี้ การหารือดังกล่าว ไม่มีตัวแทนลูกจ้างเข้าร่วม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ตัวแทนลูกจ้าง 30 คน แจ้งว่าจะเข้าร่วมประชุมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image