“ปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทยรอบ 2 ระบบสุขภาพต้องมีมาตรฐานเดียว”

การจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” นับเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อช่วยให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ภายหลัง 14 ปี หลังการดำเนินนโยบายนี้ ยังมีคงมีหลายประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรค ทั้งในแง่ของความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพในประเทศ รวมถึงความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ยังต้องรอ “การปฎิรูประบบสุขภาพรอบที่ 2” ของประเทศไทย

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งขาติและในฐานะภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันให้ไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคนจนสำเร็จ สะท้อนมุมมองน่าสนใจต่อทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพไทยรอบที่ 2 เพื่อก้าวไปข้างหน้า และเป็นหลักประกันชีวิตที่สำคัญให้กับประชาชน

มองอย่างไรต่อการปฏิรูประบบสุขภาพไทยในรอบแรก และทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพในรอบที่ 2?

นิมิตร์ : การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ทุกคนได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นับเป็นการปฏิวัติระบบสุขภาพที่สำคัญของประเทศและก้าวสำคัญ แต่เป้าหมายจากนี้ไปคือการทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพที่ไม่เหลื่อมล้ำกัน ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรามองเห็นความยุ่งยากการดำเนินระบบและมีความขัดแย้ง สาเหตุสำคัญมาจากความไม่เท่าเทียมของระบบสุขภาพประเทศ ดังนั้นเป้าหมายสำคัญจากนี้ ต้องทำให้ระบบสุขภาพประเทศเป็นระบบเดียวและมาตรฐานเดียว คนไทยทุกคนได้รับบริการที่ดี เหมาะสม โดยสิทธิประโยชน์สำคัญและจำเป็นทุกคนต้องได้รับเท่ากัน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมสำหรับทุกระบบ

Advertisement

เป้าหมายนี้ต้องเป็นไปได้ เพราะประเทศอื่น อย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นที่มีหลายกองทุน ยังทำให้เกิดความเป็นธรรม ทุกกองทุนอยู่บนมาตรฐานเดียวกันได้ เพียงแต่การปฏิรูประบบสุขภาพในรอบที่ 2 ต้องการความกล้าหาญเชิงจริยธรรมของผู้นำที่อยู่ห่วงโซ่บนสุดของระบบสุขภาพที่เหลื่อมล้ำที่พร้อมจะสร้างความเป็นธรรม ทั้งผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูง แต่ต้องขีดเส้นใต้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำนี้ ไม่ได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ของใคร แต่เป็นการทำให้ทุกคนได้รับสิทธิที่ดีและเหมาะสมเหมือนกัน

แนวทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปฏิรูประบบสุขภาพรอบ 2 นี้ควรเป็นอย่างไร?

นิมิตร์ : หัวใจสำคัญที่สุดคือต้องบริหารจัดการงบประมาณแบบใหม่ ที่ผ่านมารัฐจัดสรรงบให้แต่ละกองทุนไม่เท่ากันและเป็นต้นเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ กองทุนสวัสดิการข้าราชการได้ 1.2 หมื่นบาทต่อคน ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ 3 พันบาทต่อคน ดังนั้นต้องนำงบประมาณสุขภาพมากองรวมกัน จัดสรรอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดของการลดความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นการรวมกองทุน เพราะการแยกกองทุนแม้ว่าจะมีการรวมจัดการบริหาร แต่ยังคงความลักลั่นอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมาอีก เชื่อว่าท้ายสุดระบบสุขภาพประเทศต้องเดินไปแนวทางนี้

Advertisement

ที่มาของงบประมาณระบบสุขภาพประเทศ จากข้อเสนอการร่วมจ่าย?

นิมิตร์ : เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปควบคู่ด้วยการใช้วิธีจัดเก็บภาษีให้ได้งบประมาณเพิ่มเติมและทำให้ระบบมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนในประเทศมีส่วนร่วมสมทบกองทุนได้และมองเรื่องนี้เป็นหน้าที่ เพียงแต่ต้องพัฒนาระบบภาษีก้าวหน้าก่อน พร้อมระบุเลยว่าเป็นการจัดเก็บนำมาใช้ในระบบสุขภาพอย่างชัดเจน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ เพราะจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความจำเป็นที่ทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาและต้องมีหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนเพื่อรองรับ

ทั้งนี้รัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการร่วมจ่ายระหว่างป่วยมาคำนวณเป็นสัดส่วนการร่วมจ่ายค่าบริการ เพราะด้วยสถานะทางการเงินของคนในประเทศที่ไม่เท่ากัน จะกลายเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการได้ และเรื่องนี้เคยมีบทเรียนมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการจัดเก็บภาษีแทน

ในด้านการเข้าถึงบริการ จำเป็ต้องปฏิรูปร่วมด้วยหรือไม่?

นิมิตร์ : ทิศทางสำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ต้องให้หน่วยบริการโดยเฉพาะระดับชุมชนเป็นอิสระจากส่วนกลาง และเปิดให้ชุมชนเป็นเจ้าของระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหน่วยบริการ โดยเพิ่มขีดความสามารถการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องคงเครือข่ายระดับหน่วยบริการที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะหากยังปล่อยให้หน่วยบริการอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอย่างทุกวันนี้ ปัญหาการบริการจะยังคงเป็นแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคลากร ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริการผู้ป่วย

ที่ผ่านมามีตัวอย่างของ รพ.บ้านแพ้วที่ออกนอกระบบ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันแพทย์และพยาบาลยังมีชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งของ สธ.เพียงแต่เรื่องนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ต้องกล้าเดินหน้า

เปรียบเทียบความยากง่ายในการปฏิรูประบบสุขภาพในรอบแรก และรอบที่ 2 ที่ผลักดันอยู่นี้?

นิมิตร์ : ไม่อยากใช้คำว่ายาก แต่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพรอบหน้าที่กำลังเกิดขึ้นมีความซับซ้อนของโจทย์มากกว่า จึงต้องคิดให้อย่างรอบคอบและรอบด้าน สิ่งสำคัญต้องพยายามเดินหน้าบนข้อมูลพื้นฐานที่ไม่มีอคิตต่อกัน ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ โดยต้องมีความความไว้วางใจระหว่างกันและมองว่าการปฏิรูประบบสุขภาพในรอบนี้เป็นไปเพื่อประชาชน มองประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องไม่ใช่มุ่งทำเพื่อดึงอำนาจบริหารกลับคืน ซึ่งเชื่อว่ายังมีนักวิชาการและคนทำงานในระบบสาธารณสุขที่อยากเห็นประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดีและมีความเท่าเดียวกัน ผู้ให้บริการทุกระดับมีความสุขในการทำงาน

จากแนวทางทั้งหมดจะส่งผลให้ประเทศไทยสู่การปฏิรูประบบสุขภาพรอบ 2 สำเร็จ ตามเป้าหมาย “ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ไม่เหลื่อมล้ำ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image