สธ.ออกประกาศ ‘ผู้ป่วยโควิด-19’ รักษาฟรีทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน มีผลตั้งแต่ 5 มี.ค.63

เมื่อวันที่ 11 เมษายน กระทรวงสาธารณสุข ประกาศหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2563 ให้ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้รักษาพยาบาลฟรีจากทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์และเป็นธรรม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.จึงเร่งพัฒนาและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการรับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพ อันนำไปสู่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))”

ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) ทุกแห่งจะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล และหากจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ให้สถานพยาบาลดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามแนวทางการเรียกเก็บที่ สปสช.กำหนดแทน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563 ส่งผลให้จากนี้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด เว้นแต่กรณีที่สถานพยาบาลจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังเครือข่ายสถานพยาบาลที่จัดไว้ แต่ตัวผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า สำหรับระยะเวลาที่สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน เริ่มตั้งแต่ สปสช.ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และ 3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วน หลังจากนั้นกองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดค่าบริการทั้งสิ้น 597 รายการ ให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน

Advertisement

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติพบโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2193-7057 หรือที่สายด่วน 1667 ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19 กรม สบส. แต่หากอยู่ในต่างจังหวัดให้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image