โลกไม่เหมือนเดิม! ทพ.กฤษฎา เผย 3 วิธี โควิด จบ ชี้ปรับตัว ต้องอยู่กับไวรัสอย่างน้อย 18 เดือน
โควิด – เมื่อวันที่ 12 เมษายน ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในประเด็น “COVID-19 จะจบเมื่อไหร่?” ความว่า
“เป็นเวลา 3 เดือนเต็มนับจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วย COVID รายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 หลายคนอึดอัดและอยากรู้ว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยถึงจะพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้สักที ในแต่ละวันก็นั่งลุ้นการประกาศจำนวนตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ หลายวันนี้ตัวเลขดูลดลงเรื่อยๆ หรือว่าในไม่ช้านี้ โรคร้ายนี้จะหายไปจากประเทศไทย และพวกเราทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกันซะที
อยากแชร์ให้ทุกคนฟังว่า โรคร้ายนี้จะจบได้มีเพียง 3 วิธี คือ
1. คนในประเทศไทยต้องมีภูมิต้านทาน จำนวน 60% ของประชากรทั้งหมด หมายความว่าต้องมีคนไทยมีภูมิต้านทานอย่างน้อย 40 ล้านคน โรคนี้ถึงจะไม่แพร่ระบาดอีก และการที่จะมีภูมิต้านทานมีสองวิธี คือติดเชื้อแล้วหาย และฉีดวัคซีน (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน) ปัจจุบันมีผู้ติดแล้ว 2,518 คน
สมมุติว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่เราไม่รู้อีก 6 เท่า (เนื่องจากมีอาการน้อยๆ และไม่ได้ทำการตรวจ) จำนวน 15,108 คน จำนวนตัวเลข 15,108 คนนี้ยังนับว่าห่างไกลจากจำนวน 40 ล้านเป็นอย่างมาก และไม่มีประเทศใดในโลกที่จะยอมปล่อยให้คนติดเชื้อกันเยอะๆ จนถึงร้อยละ 60 เพราะจะมีคนป่วยจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาล และนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. มีการคิดค้นวัคซีนได้ แล้วทำการฉีดให้คนไทยทุกคน วิธีการนี้นับว่าดีและปลอดภัยที่สุด แต่ติดที่กระบวนการผลิตวัคซีนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องทำวัคซีนออกมา ทำการทดลองในสัตว์จนมั่นใจ แล้วจึงทดลองในคน ซึ่งหากไม่ได้ผล ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าวัคซีนตัวแรกอาจจะเสร็จใน 1 ปี และประเทศที่ผลิตได้ก็ต้องใช้กับประเทศเขาก่อน
ดังนั้นกว่าจะมาถึงเมืองไทย คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน
3. วิธีสุดท้ายคือการค้นพบยารักษา ซึ่งขณะนี้มีนักวิทยาศาตร์จากทั่วโลก กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่
ปัจจุบันมีบางตัวที่รักษาได้ แต่ก็ยังไม่ง่ายเพียงพอ ที่จะใช้ในทุกคนที่ติดโรคนี้ ดังนั้นความหวังที่พบยารักษา COVID ที่ใช้รักษาได้ง่ายๆ เหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่เรากินยาไม่กี่เม็ดก็จะหายได้
ดังนั้นความหวังที่จะมียารักษา คงไม่เร็ว และไม่ใครกล้าคาดการณ์ ว่าเป็นเมื่อไหร่
หากพิจารณาจากข้อมูลนี้ เราคงต้องอยู่กับ COVID ไปอีกอย่างน้อย 18 เดือน ถ้าเราไม่เครียด เข้าใจ รู้จักปรับตัวและยอมรับว่าจะอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้ไปอีก 18 เดือน เราก็จะไม่มีความทุกข์ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
แต่ถ้าเราคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นจะร่วมกันพิชิตโรคร้ายนี้ให้จบใน 3 เดือน แล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข เราก็จะมีความทุกข์ เครียด และไม่ได้วางแผนชีวิตอย่างถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของร้านอาหาร และคิดว่า Covid จะจบใน 3 เดือน เราก็จะหยุดทุกอย่างไว้ ใช้เงินสะสมที่มี เพื่อรอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับขายใหม่ แต่ถ้าครบ 3 เดือนแล้วโรคนี้ไม่หมดไป เราจะทำอย่างไร เงินสำรองที่มีก็หมดแล้ว ค่าเช่าร้านก็ต้องจ่ายทุกเดือน แบบนี้กิจการคงไม่รอด
แต่ถ้าเรายอมรับความจริง ยอมรับว่าโรคนี้อาจอยู่กับเรายาวไปอีก 18 เดือน และเริ่มปรับตัวทันที เราก็จะพยายามหาช่องทางขายใหม่ๆ ทั้งการขายผ่านออนไลน์ การส่งปิ่นโต การคิดเมนูใหม่เพื่อไม่ให้คนเบื่อ หรือการเจาะตลาดในหมู่บ้าน เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกขึ้นมา เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังอีกมากมายที่แต่ละคนต้องคิด เช่น โรงแรมจะปรับอย่างไรเพราะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติคงจะลดลงอย่างมาก ร้านอาหารจะทำอย่างไรถ้าไม่สามารถนั่งกินอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ได้เหมือนเดิม ร้านค้าตามห้างจะทำอย่างไรถ้าคนเดินห้างลดลง ร้านขายของจะทำอย่างไรถ้าคนซื้อสินค้าลดลง ฯลฯ
เราคงต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมในอีก 18 เดือนต่อไป เช่น
เราต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกวันที่ออกจากบ้าน
เราต้องล้างมือบ่อยๆ
เราต้องรักษาระยะห่างจากเพื่อนๆ อย่างน้อย 2 เมตร
เราจะไม่สามารถนั่งกินข้าวกับเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ หัวเราะและคุยกันเสียงดังแบบเดิมได้
เราจะไม่สามารถชวนแฟนไปดูหนัง ไปเที่ยวผับหรือบาร์ได้
เราจะไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ง่ายๆ แบบเดิม เพราะไปประเทศไหนก็ต้องถูกกักตัว 14 วัน
เราจะไม่สามารถจัดงานสังสรรค์ใหญ่ๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยง งานประชุมสัมนา งานนิทรรศการ ฯลฯ
และโลกจะไม่เหมือนเดิม อย่างที่เราคุ้นชิน อีกต่อไป
หวังว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์ กับทุกท่าน ในการปรับตัวรับมือ COVID-19″
โดยภายหลังที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานโลกออนไลน์ เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องถึง 1 หมื่นครั้ง