‘ช่างผม-เสริมสวย’ โอด แบกภาระหนัก ‘โควิด’ ยิ่งกว่า ‘น้ำท่วม’

วิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดครานี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทยไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่หวาดหวั่นกับเชื้อไวรัสที่ “ติดง่าย หายยาก” กับ “มาตรการของรัฐ” ที่สั่งให้ปิดกิจการบางกิจการ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย

ส่งผลให้คนที่ทำงานในสายอาชีพเหล่านี้ “เดือดร้อนหนัก” เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะไม่มีรายได้

ไหนจะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าร้าน ที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ในสภาพนี้ต่อไปอีกกี่วัน กี่เดือน และนี่คือ เสียงสะท้อนของ “ช่างเสริมสวย” หนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการการป้องกันโรคระบาดของรัฐครั้งนี้

นายณัฐวัฒน์ ปิยะศิริพัณฑ์ นายกสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเดือดร้อนของช่างผมในครั้งนี้ เรียกได้ว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะถูกปิดร้าน มากกว่า “น้ำท่วมใหญ่” ที่ตอนนั้นทุกร้านยังพอเปิดได้

Advertisement

“หลังจากหยุดมา 20 กว่าวัน เราได้รับการร้องเรียนจากช่างทำผม ที่พูดกันว่าไม่มีจะกินแล้ว โดยเฉพาะค่าเช่าร้านที่ต้องจ่ายกันเดือนละเป็นหมื่น บางร้านบนห้างจ่ายค่าเช่านับแสนบาท ทางสมาคมจึงได้เปิดให้ลงชื่อสำหรับผู้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตอนนี้มีเกือบ 1 หมื่นรายแล้ว โดยได้นำชื่อ 4,900 ชื่อ ในช่วงแรก ไปยื่นขอความอนุเคราะห์แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลให้ช่วยเยียวยา และยังได้ไปยื่นที่รัฐสภาด้วย”

นายณัฐวัฒน์กล่าวว่า ทางสมาคมได้ขอวิงวอนให้รัฐบาล ช่วยประสานกับผู้ให้เช่าที่ให้ช่วยลด หรืองดค่าเช่าร้าน เป็นเวลา 3 เดือน และอยากให้ช่วยชดเชยให้ร้านที่ถูกสั่งปิด 30,000-50,000 บาท ตามขนาดของร้าน และวิงวอนให้รัฐช่วยหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารต่างๆ ก็จะสนับสนุน SME อยู่แล้ว

“อยากขอวิงวอนรัฐบาล เพราะรัฐบาลสั่งปิด 100% รายได้ของเรานั้นเท่ากับศูนย์ ช่างผมต่างเดือดร้อนกันจริงๆ” นายณัฐวัฒน์กล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย กล่าวว่า กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้รับผลกระทบเหมือนกัน หลายคนอาจจะมองว่าพูดได้ เพราะเป็นร้านใหญ่ เดือดร้อนน้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่ายิ่งร้านใหญ่ก็ยิ่งโดนหนักกว่า เพราะต้องดูแลลูกน้องหลายชีวิต ซึ่งเปิดเป็นบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นลูกน้องทุกคนมีประกันสังคม พอเกิดเหตุการณ์ก็ไม่เดือดร้อนมาก เพราะทางบริษัทได้ไปยื่นขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคม ตามสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 เพราะประกันสังคมก็เหมือนกับเงินเก็บของเรา เรามีสิทธิที่จะขอคืนมา โดยในฐานเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท เขาจะให้คืนมาร้อยละ 62 ลูกน้องก็จะได้เดือนละประมาณ 9,300 บาท

“เมื่อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง คิดว่าช่างทำผมทุกคนควรจะช่วยกันทำงานให้เป็นมาตรฐานและเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยังมีช่างทำผมอีกหลายคนที่ยังไม่ได้เข้าในระบบประกันสังคม” ดร.สมศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นางสายฝน ศรีบุญเพ็ง อายุ 36 ปี เจ้าของร้านเสริมสวยรถเมล์แอนด์เหนือ หมู่บ้านไทธานี (นวนคร) ปทุมธานี กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะต้องปิดร้านเสริมสวยซึ่งเป็นรายได้หลัก จึงไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายยังคงอยู่ เช่น ค่าเช่าร้านที่ต้องจ่ายเดือนละ 5,000 บาท รวมไปถึงต้องดูแลลูก 1 คน ตอนนี้สามีทำงานคนเดียว รายได้ที่ได้มาก็ไม่พอใช้

“ดิฉันได้ไปลงทะเบียนเงินเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกันด้วย แต่ยังอยู่ในสถานะ “อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานการณ์การลงทะเบียนของท่าน ไม่สามารถยกเลิกการลงทะเบียนได้” ไม่รู้ว่าจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเพราะเดือดร้อนมาก สำหรับนโยบายผ่อนปรนให้ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมสามารถเปิดให้บริการได้ เห็นด้วย แต่อาจจะต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งที่คิดไว้คือปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด มีเจลล้างมือไว้หน้าร้าน สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือและทำความสะอาดร้าน แต่ที่สำคัญคือจะให้ลูกค้านัดคิวมา แล้วมาตามเวลานัดจะได้ไม่ต้องนั่งรอป้องกันการแพร่เชื้อสู่กัน อย่างน้อยๆ ได้ลูกค้าวันละ 2-3 รายก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย” นางสายฝนกล่าวเสียงวิงวอน

ปิดท้าย นายสมชาย และซัน เจ้าของร้านทำผมชายแห่งหนึ่ง ย่านรามคำแหง กล่าวว่า เปิดร้านมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ตั้งแต่ปิดร้านมา ก็มีความเดือดร้อนมาก เพราะมีลูกเล็ก 1 คน เรียนอนุบาล 2 มีรายจ่ายในบ้านเดือนละ 20,000-25,000 บาท ตอนแรกที่ประกาศว่าจะให้ปิดถึง 13 เมษายน ก็คิดว่าไม่เป็นไร เราช่วยชาติ แต่ตอนนี้ก็ให้เลื่อนไปถึงสิ้นเดือน ก็คิดว่าจะทำเช่นไร เรายังต้องมีรายจ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในบ้าน ก็ได้ขอเงินเยียวยาจาก เราไม่ทิ้งกัน ได้รับเงินมา 5,000 บาท นำมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ก็เหลือเงินอีก 1,000 บาท ที่ต้องดูแลสมาชิกกันต่อไป ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด คือถ้าไม่ได้เงินก้อนนี้มา ก็คงแย่เลย

“หากภาครัฐจะให้กลับมาเปิดได้อีกครั้งนั้น ก็ยังมีข้อกังวลหลายอย่าง เนื่องจากเราไม่สามารถคัดกรองคนได้จริง น่าจะรอให้จำนวนคนติดเชื้อลดลงเหลือน้อยก่อน เพราะแม้จะมีมาตรการใดๆ แต่เชื้ออาจจะติดมาจากเสื้อผ้าต่างๆ ที่ป้องกันได้ยาก ช่างทำผมไม่สามารถคัดกรองคนได้ เหมือนอย่างข่าวที่ออกมาว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพราะการปิดบังข้อมูล อีกทั้งหากเปิดร้าน ร้านเองต้องแบกภาระเรื่องอุปกรณ์อย่าง เครื่องวัดไข้ เจล แอลกอฮอลล์ แต่มีรายได้ลดลง อย่างแต่ก่อนตัดได้วันละ 40 คน อาจลดลงครึ่งหนึ่ง สิ่งสำคัญคืออยากให้ภาครัฐมาช่วยเยียวยา เพราะทางเขตก็มีข้อมูลอยู่แล้ว ว่ามีร้านทำผมเท่าใด จึงยังรอดูอยู่ว่ามาตรการของรัฐเป็นอย่างไร แต่หากว่าภาครัฐอนุญาตและมีมาตรการที่รองรับได้ดี ก็เห็นด้วย แต่เชื่อว่าเดือนพฤษภาคมทุกอย่างน่าจะดีขึ้น” นายสมชายกล่าวอย่างมีความหวัง

นี่คือทุกข์ของคนไทยที่รัฐบาลรอช้าไม่ได้!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image