กอสส.โต้ทำงานแต่ข่าวไม่ออก กก.สรรหาเสนอนายก ใช้ ม.44 ยุบ ชี้ไม่กระเทือนใคร

กรณีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม(กอสส.) ได้เรียกร้อง และเข้าร้องเรียน หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพื่อให้ยุบองค์กรของตัวเอง ภายหลังก่อตั้งมา 6 ปี แต่แทบจะไม่มีผลงานให้คุ้มกับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี ทั้งนี้ กอสส.ตั้งขึ้นจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการตั้งองค์กรอิสระ ประกอบด้วย ประธานและกรรมการ รวม 13 คน มีหน้าที่ให้ความคิดเห็นประกอบโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 และมอบหมายให้คณะกรรมการประสานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระ ทำหน้าที่สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือในการดำเนินการขององค์กรอิสระให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือการดำเนินงานขององค์การอิสระตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ภายใต้ขอบเขตของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นั้น

วันที่ 17 กรกฎาคม นายสุรพล ดวงแข กรรมการ กอสส.ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ยอมรับว่า ภายในกอสส.มีปัญหาเรื่องการทำงานอยู่ เช่น กรรมการบางคนไม่ยอมมาทำงาน แต่คนอื่นๆ ก็ทำอะไรพวกคนเหล่านั้นไม่ได้ แต่ข้อกล่าวหาที่เป็นข่าวออกไปนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรงพอสมควร ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้องเรียนมา จึงขอโอกาสชี้แจงว่า การทำงานในกอสส.นั้นมีอุปสรรคค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่ทำงานเลย เพราะการทำงานของกอสส.ต้องให้ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ส่งเรื่องมาหลังจากได้พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอสส.พิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว 23 โครงการ

“ไม่ใช่ว่า เราจะเห็นด้วยทุกเรื่อง หลายเรื่อง ทุกเรื่องเราก็มีเครือข่ายด้านนั้นๆ มาช่วยทำงาน และไม่ใช่ว่าเราจะให้ความเห็นชอบโดยไม่มีข้อมูลอะไรสนับสนุนเลย ส่วนเรื่องที่ว่าเราไม่ทำงาน ก็ไม่ใช่ เพราะงานแต่ละโครงการนั้นต้องถูกส่งมาจากคชก.ก่อน หลายเรื่องที่เราพิจารณา ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมข่าวไม่ออก ทำไมผู้สื่อข่าวไม่รู้เรื่องเลย เช่น เราให้ความเห็นชอบเรื่องโรงไฟฟ้าไป 4 โรง เราตั้งคำถามกลับไป 20 คำถามให้เขาตอบกลับมา เขาตอบไม่ได้ อันนี้ควรจะเป็นข่าวมาก เพราะเป็นผลประโยชน์กับประชาชนโดยตรง แต่ไม่มีข่าวออกมา” นายสุรพล กล่าวและว่า หากจะยุบกอสส.เข้าใจว่า ไม่มีกรรมการคนไหนเดือดร้อน แต่คนที่จะเสียผลประโยชน์คือประชาชน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) ในฐานะ กรรมการคัดเลือก คณะกรรมการการ กอสส. ให้สัมภาษณ์ว่า สังเกตมานานแล้วว่า การเป็นอยู่ของคณะกรรมการกอสส.ชุดนี้ ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 เลย ตอนที่มีการเสนอให้มีกรรมการชุดนี้ ไม่ได้กำหนดวาระ ระยะเวลาในการทำงาน เพราะความผิดพลาด ที่คิดกันว่ารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี เวลานั้น จะเสนอกฎหมายองค์กรอิสระฉบับถาวร ภายใน 2 ปี ซึ่งเดิมตั้งเป้าไว้ว่า คณะกรรมการกอสส.ไม่ควรมีวาระการทำงานเกิน 2 ปี แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง จากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่มีใครยอมรับที่จะเป็นเจ้าภาพ ที่จะทำร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น กอสส.จึงต้องอยู่กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลาถึง 6 ปีแล้ว โดยระยะหลัง ไม่น่าที่จะได้ทำอะไรมากนัก เพราะไม่มีโครงการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาให้พิจารณาเลย นอกจากนี้ ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ของกรรมการให้ถี่ถ้วนพอ กรรมการไม่มีความรู้เฉพาะทาง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการให้ความเห็น

Advertisement

“กรรมการบางคนก็ไปในนามกรรมการมูลนิธิ หรือมหาวิทยาลัย แต่เข้าไปได้ไม่นาน มหาวิทยาลัยไล่ออก และหมดวาระจากการเป็นกรรมการมูลนิธินั้นๆ มาแล้ว ที่หนักกว่านั้น บางคน แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของเอ็นจีโอบางกลุ่มมา ซึ่งกรณีนี้ ก็เคยมีการไปร้องเรียนกันมาแล้ว แต่หน่วยงานต้นสังกัดอย่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่ได้จัดการอะไร ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาโครงการที่มีความรุนแรงกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คนที่ควรจะมีบทบาทหลักอย่าง น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศน์ ซึ่งมีผลงานมากมายทั้งงานวิจัยในพื้นที่ และการทำงานด้านนี้โดยตรง แต่ปรากฏว่า ถูกกดดันจากกรรมการคนอื่นๆ จนต้องลาออก แล้วแต่งตั้งคนอื่นที่เป็นกรรมการสำรองขึ้นมาแทน หลายคนก็ทราบว่า กรรมการแต่ละคน มีความรู้ที่จะให้ความเห็นในเรื่องนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า สารเคมี หรือไม่” นายหาญณรงค์ กล่าว

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า เป็นเรื่องสมควร และเหมาะสมที่สุด หากนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุบองค์กร นี้ไปเสีย เพราะถึงมีอยู่ก็ไม่ได้ทำงานอะไร และแม้ว่าไม่มีประเทศชาติก็ไม่ได้เสียหาย หรือติดขัดอะไรเลย

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มูลนิธิจิตอาสาและชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ทราบว่า กอสส.มีปัญหาภายในค่อนข้างรุนแรง ความเห็นของกรรมการไม่เป็นเอกภาพ กลายเป็นความเห็นของแต่ละบุคคลเมื่อส่งไปยังหน่วยงานอนุญาตก็เลยจับต้องไม่ค่อยได้ว่าควรเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงานฯ หน่วยงานอนุญาตส่วนใหญ่เท่าที่ทราบมาก็ไม่ค่อยให้ความสนใจความเห็นจาก กอสส.มากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับมติของ คชก.พิจารณาอีเอชไอเอ หรือ คชก.มากกว่า เพราะตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 50 วรรค 2 ระบุชัดเจนว่า มาตรการในรายงานอีเอชไอเอ ทั้งหมดถือเป็นเงื่อนไขของการอนุญาต เมื่อมีข่าวเรื่องความไม่โปร่งใส เรื่องด้อยประสิทธิภาพและเรื่องทำงานไม่คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินตามที่เป็นข่าวเช่นนี้ออกมา ทส.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลองค์การนี้โดยตรง จ่ายเงินค่าตอบแทนให้คณะกรรมการฯและเจ้าหน้าที่ ต้องรีบเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวออกมาให้สาธารณชนรับทราบโดยเร็ว

Advertisement

“ผมทราบว่ามีนักวิชาการ องค์กรเอกชนและประชาชนรอฟังข่าวนี้กันมาก ที่ผ่านเมื่อมีผู้วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการเหล่านี้องค์การนี้ก็ชอบจะไปแจ้งความหมิ่นประมาทผู้วิพากษ์อยู่เป็นประจำโดยลืมไปว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 อนุ 3 กำหนดไว้ชัดว่า “ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้”คือประชาชนสามารถติชมการทำงานของหน่วยงานราชการได้นั่นเอง กรณีที่เป็นข่าวเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์การนี้คงทนไม่ไหวกับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เช่น ตามข่าวระบุว่า กรรมการบางคนมีความรู้เพียงด้านเกษตรกรรมประกอบอาชีพทำฟาร์มหมูไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะมาให้ความเห็นชอบกับโครงการเป็นต้น ในความเห็นคิดว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งมีหน้าที่ดูแลและหางบประมาณให้ต้องเร่งรีบทำหน้าที่ตรวจสอบทุกเรื่องราวที่มีการร้องเรียนต่อองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่ง ซึ่งได้ทราบว่ามีการร้องเรียนเรื่องกรรมการฯบางท่านขาดคุณสมบัติไปยังกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตั้งแต่พ.ศ.2557แล้ว แต่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเงียบมาตลอด เรื่องนี้ผมจะบอกให้ภาคประชาชนกำลังจับตาดูการทำงานของท่านอยู่” นายสนธิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image