กลุ่ม ‘สังคมนิยมแรงงาน’ แถลง 7 ข้อเนื่องในวันกรรมกรสากล ชี้ยุคโควิดคนจนกระทบหนักสุด

กลุ่ม ‘สังคมนิยมแรงงาน’ แถลง 7 ข้อเนื่องในวันกรรมกรสากล ชี้ยุคโควิดคนจนกระทบหนักสุด

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน เผยแพร่แถลงการณ์วันกรรมกรสากล 2563 ในหัวข้อ “ผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับการดูแลจากรัฐอย่างมีศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศ”

ข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองแสนคนและเจ็บป่วยรวมสามล้านคนทั่วโลก โรคระบาดเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงแนวโน้มของวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดจากการบริหารจัดการควบคุมโรคของรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยม
.
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ของรัฐบาล รายงานว่ามีผู้ป่วย Covid-19 รายใหม่ 7 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเป็น 2,954 ราย ใน 68 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมีผู้ที่หายป่วยแล้วจำนวน 2,687 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมขณะนี้อยู่ที่ 54 ราย ผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังมีกว่า 62,000 คน ส่วนกรุงเทพฯ ยังคงมีผู้ป่วยมากที่สุดคือ 1,497 ราย ทำให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มน้อยลง จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่หลักร้อยลดลงมาเหลือหลักหน่วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แลกมาคือ ปัญหาความอดอยากของประชาชนคนทำงาน สภาพความเป็นอยู่เลวร้ายที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายของแรงงานหลายคน
.
ปัญหาผลพวงจากการจัดการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาล เริ่มจากการที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมถึง 30 เมษายน 2563 ตามมาด้วยมาตรการปิดเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสั่งปิดกิจการหลายประเภท โดยเฉพาะภาคบริการการท่องเที่ยว ลดกิจกรรมสาธารณะ จำกัดการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนหยุดงานอยู่บ้าน ทำให้รายได้ของคนทำงานลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ รับจ้างอิสระ คนงานในโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการเลิกจ้าง มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 140,000 รายในเดือนมีนาคม รวมจำนวนสะสม 700,000 ราย ซึ่งไม่สามารถหางานทำได้ในช่วงวิกฤตนี้ ล่าสุด รัฐบาลยืดเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือนจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และยังคงมีเคอร์ฟิว แต่ผ่อนปรนให้มีการเปิดกิจการมากขึ้น
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า มีแรงงานในระบบประกันสังคมกว่า 4 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และคนงาน จำนวน 1.2 ล้านคนได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์การว่างงาน ณ วันที่ 21 เมษายน ซึ่งได้ตรวจสอบและอนุมัติไปแล้ว 500,000 คน สำนักงานฯ ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3 ล้านถึง 4 ล้านคนนับจากนี้
​การออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบประกันสังคมของรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือคนทำงานที่เดือดร้อนได้อย่างทันท่วงทีดังกรณีเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาทให้แก่แรงงานนอกระบบ เช่น คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ มัคคุเทศก์ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย จำนวน 9 ล้านคน อีกทั้ง รัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัญหาการคัดกรองอย่างไม่เป็นธรรม ล่าช้า ตกหล่นเป็นจำนวนมาก และยังมีการจำกัดกลุ่มอาชีพ เช่น คนงานก่อสร้างเพราะยังทำงานอยู่ แรงงานข้ามชาติไม่ให้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด ทั้งที่ความเป็นจริงมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ทำงาน ถูกสั่งหยุดงานและไม่มีรายได้ในการยังชีพ
.
​ส่วนกรณีแรงงานในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการหรือพนักงานเอกชน กำลังเผชิญปัญหาถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถูกสั่งหยุดงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ต้องไปขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย คนว่างงานรวมกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเองและถูกทางราชการสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจะได้รับเพียงเงินทดแทนในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม และนายจ้างผลักภาระไปให้ลูกจ้างในการจัดการปัญหา
​เนื่องในวันกรรมกรสากลมาบรรจบกับช่วงของการระบาดโควิด-19 เราพบว่า ที่ผ่านมาแรงงานและคนจนคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส คือ นอกจากจะเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิต ยังเสี่ยงตกงาน ปิดงาน ลดค่าจ้าง ในขณะที่ยังคนงานอื่น ๆ จำเป็นต้องทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเชื้อที่เหมาะสมและเพียงพอ
.
เราขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาโดยด่วน 7 ข้อ ดังนี้
1. ชดเชยเยียวยาถ้วนหน้าเท่าเทียม​และทันที ​ไม่แยกส่วน​ ไม่เลือกปฏิบัติ
2. งดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์บ้าน ฟรีค่ารถขนส่งมวลชน พักชำระหนี้ทุกประเภทจนถึงสิ้นปี 2563
3. เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากเศรษฐีในประเทศแทนการขอรับบริจาค
4. ลดเงินเดือนผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการระดับสูงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำเงินมาเยียวยาผลพวงจากปัญหาการควบคุมโรคระบาด
5. ลดงบประมาณทหารมากขึ้น ลดขนาดของกองทัพเพราะไม่จำเป็นในการฟื้นคืนเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชน
6. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที​และถือว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องชอบธรรม​ เป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย จะห้ามการชุมนุมการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้
7. สร้างหลักประกันที่มั่นคงแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและออกกฎหมายสำคัญของประเทศ
ด้วยจิตวิญญาณของวันกรรมกรสากลที่แรงงานทั่วโลกคือพี่น้องกัน และร่วมกันสร้างสังคมน่าอยู่มีความสมานฉันท์ตลอดมา นับจากนี้ เรา คนทำงานควรรวมพลังกันเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่ดีกว่า…..กรรมกรจงเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image