เปิดสาเหตุ ‘หญิงไทยเตี้ย’ 5 ปีเฉลี่ยสูงเพิ่ม 1-2 ซม. กรมอนามัยบอกสูตรลับสูงได้ไม่ยาก

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อย ด้อยคุณภาพนั้น ในส่วนของการเจริญเติบโตพบว่ายังมีปัญหา สาเหตุหนึ่งมาจากคนไทยยังไม่รู้ว่าช่วงไหนของเด็กที่เป็นช่วงเวลาทองที่เด็กเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนนั้นเฉลี่ยจะสูงไม่เกิน 4-5 เซนติเมตร (ซม.) ต่อปี แต่ช่วงที่เด็กจะเจริญเติบโตไว คือ ช่วงที่เป็นวัยรุ่น มีเซ็กส์ฮอร์โมน ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9 ซม.ต่อปี แต่คนไทยยังเข้าใจผิด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่คิดว่าพอประจำเดือนมาก็หยุดสูงแล้ว จึงไม่ได้มีการบำรุง ทำให้ผู้หญิงไทยค่อนข้างเตี้ย ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2552-2553 ผู้หญิงไทยอายุ 19 ปีขึ้นไปสูงเฉลี่ย 157 ซม. ปี 2557-2558 สูงเฉลี่ย 158 ซม. ส่วนผู้ชายปี 2552-2553 สูงเฉลี่ย 169 ซม. ปี 2557-2558 สูงเฉลี่ย 171 ซม. จะเห็นได้ว่า 5 ปี ความสูงเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 ซม.เท่านั้น

“ความจริงแล้วเด็กไทยจะหยุดสูงก็ต่อเมื่อสิ้นสุดช่วงวัยรุ่นคือก่อนอายุ 20 ปี ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่นหรือมีเซ็กส์ฮอร์โมน ต้องรีบบำรุงร่างกาย รีบโด๊ปให้สูงขึ้นเร็วๆ สังเกตได้จากการที่เด็กผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนมา หรือเด็กผู้ชายคือมีเสียงแตก มีขนรักแร้ หรือฝันเปียก เป็นต้น ถือเป็นช่วงสำคัญที่ต้องเร่งบำรุงร่างกายให้สูง ซึ่งสามารถทำได้โดย 3 วิธีคือ 1.อาหาร โดยเฉพาะการรับประทานนม 2.การออกกำลังกายอย่างมีแรงกระแทก เพื่อสร้างความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งจะช่วยให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 3.การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าไว้ว่าคนไทยจะต้องสูงดีสมส่วน ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องอ้วนเท่านั้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าผู้ชายจะต้องสูงเฉลี่ยที่ 180 ซม. และผู้หญิงสูงเฉลี่ย 170 ซม. ภายใน 20 ปี เฉลี่ยเพิ่มปีละประมาณ 0.5 ซม.ซึ่งน่าจะสามารถทำได้

Cj1pbSsXAAAK0kj

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image