เหยี่ยวถลาลม วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 : เราไม่ทิ้งกัน

เหยี่ยวถลาลม วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 : เราไม่ทิ้งกัน

เหยี่ยวถลาลม วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 : เราไม่ทิ้งกัน

“เราไม่ทิ้งกัน” ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเพื่อชักชวนให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อ “ผู้ให้”

ที่จริงพื้นฐานสังคมไทยมาจากเกษตรกรรมที่เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ พอเหลือก็แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน มีความโอบอ้อมอารีเกื้อกูลกันในหมู่บ้านชุมชนเป็นปกติ ต่อมาเมื่อก้าวสู่ความทันสมัย “ส่วนที่เหลือ” ก็ได้ขายกลายเป็นเงินใช้ซื้อสินค้า หลายปีผ่านมาภาคเกษตรล่มสลาย ความยากจนลุกลามระบาดจนคำว่า “เราไม่ทิ้งกัน” ยิ่งฟัง-ยิ่งไกลจากความเป็นจริง

“ความยากจน” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

Advertisement

ที่ทุกรัฐบาลทำแค่กลยุทธ์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าภายใต้ชื่อต่างๆ แต่โดยเนื้อหาแล้วคือ การบริจาคทานหรือ “แจกเงิน” เพื่อต่อลมหายใจ

ตราบเท่าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ “คนจน” ยังต้องอยู่กับความยากจนต่อไปชั่วฟ้าดินสลาย

คำว่า “เราไม่ทิ้งกัน” เพียงแค่คำปลอบประโลม

ที่รัฐบาลนี้ตั้งชื่อเว็บไซต์แจกเงินว่า www.เราไม่ทิ้งกัน.com นั้น ก็แจกเงินเหมือนกัน

การคิดแจกเงินเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลตระหนกกับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” จนต้องเร่งรีบสั่งปิดกิจการค้าขายมากมายหลากหลายอาชีพทำให้คนจำนวนมากตกงานกับจนเฉียบพลัน

นายกรัฐมนตรีคงเคยชินกับ “การมีอำนาจพิเศษ” และการใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือจึงได้คิดเหมือนดังที่เคยกล่าวว่า “การบริหารราชการแผ่นดินไม่เห็นจะมีอะไรยาก”

แค่ขู่ย้ายกันรายวันก็ขี้คร้านจะกุลีกุจอตามใจนาย

จึงไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์จำแนกแยกแยะ คิดให้แยลยลว่า จะทำอะไร ทำอย่างไรกับ “จังหวัดปลอดภัยสูงสุด”

ไม่ต้องคิดหยิบเอาพื้นที่ใดจังหวัดไหนขึ้นปั้นกันให้กลาย “จุดแข็ง” เพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต

ไม่ต้องคิดปล่อยให้มีเสรีภาพค้าขายในจังหวัดที่ไม่ปรากฏตัวผู้ป่วยมาเป็นแรมเดือน

ทุกจังหวัดพอใจกับ “มาตรการเดียว-ใช้ได้ทุกที่” ทุกจังหวัดเชื่อว่า ต้องให้คนอยู่กับบ้าน หยุดทำมาหากินจึงจะไม่ตายด้วยโควิด-19

ความยากจนแร้นแค้นไม่มีเงินจะกิน ไม่ได้มีอยู่จริง

ทรรศนะที่มีต่อความยากจนได้กำหนด “กรอบความคิด” ของเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

จึงต้องมากไปด้วย “เงื่อนไข” ทำให้อีกนับล้านคนถูกเขี่ยทิ้ง !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image