กรมอนามัยชง “พันล้าน” แจกโฟเลตหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เป็นที่ทราบว่า กรดโฟเลต หรือกรดยูลิก ป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ เท้าพิการ เป็นต้น โดยเฉพาะการให้โฟเลตในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี ก่อนการตั้งครรภ์ ดังนั้นการวางแผนก่อนแต่งงานมีบุตรเป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอ ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้อนุมัติการให้วิตามินรวม 3 อย่าง คือเหล็ก ไอโอดีน และโฟเลต สัปดาห์ละ 1 เม็ดสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยไม่เพียงแต่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมป้องกันโรคจึงได้หมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)อยู่ระหว่างการผลิตวิตามินรวมดังกล่าวอยู่ คาดว่าจะสามารถให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ได้ภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ เบื้องต้นจะค่อยๆ แนะนำหญิงสาวที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ทราบถึงสิทธิดังกล่าว และพยายามศึกษาหาทางผสมสารโฟเลตลงไปในอาหารบางประเภทด้วย

“ถ้าให้วิตามินรวมสัปดาห์ละเม็ด 1 ปี มี 52 สัปดาห์ ก็คนละ 52 เม็ดต่อปี ขณะที่ข้อมูลเมื่อปี 2557 ประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ของไทยมีจำนวน 17,789,671 คน เท่ากับว่าใน 1 ปีจะใช้วิตามินรวม 925,062,892 เม็ด ราคาเม็ดละไม่ถึง 1บาท ดังนั้นจะใช้งบประมาณประมาณไม่ถึง 1 พันล้านบาทต่อปี แต่สามารถป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิดในเด็กทารกได้จำนวนมาก” นพ.วชิระ กล่าว และว่า นอกจากโฟเลตจะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้แล้วยังพบว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ (ไอคิว) ของเด็กได้อีก 10 จุด ดังนั้นจึงต้องหาทางให้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงโฟเลตได้อย่างทั่วถึง

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความพิการแต่กำเนิดมีสาเหตุมาจากพันธุ์กรรม และสิ่งแวลดล้อม แต่สามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 50 หากได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอ ดังนั้น ตนเห็นด้วยในการที่ภาครัฐมีแนวคิดในการผสมโฟเลลตลงไปในอาหารเพื่อให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของคนที่ตั้งครรภ์ทั้งหมด มีการวางแผนครอบครัว วางแผนมีบุตร ที่เหลือ เป็นวัยรุ่น เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน ในขณะที่ปัจจุบันพบว่ามีหญิงไทยที่มีพันธุกรรมของความพิการแต่กำเนิดถึงร้อยละ 12 ซึ่งแม้ว่าตัวจะไม่เป็นโรค แต่สามารถส่งต่อให้กับบุตรได้ ดังนั้นการป้องกันไว้จึงดีที่สุด.

////////

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image