นักวิชาการแรงงาน-เอ็นจีโอ ‘หนุน-ค้าน’ ประกันสังคมจ่าย 75%

นักวิชาการแรงงาน-เอ็นจีโอ ‘หนุน-ค้าน’ ประกันสังคมจ่าย 75%

ความคืบหน้ากรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับเพิ่มเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่มีการลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาประมาณ 9.9 แสนคนเศษ จากเดิมร้อยละ 62 เป็นร้อยละ 75 แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะกระทบต่อเงินกองทุนในระยะยาวนั้น

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานครือข่ายแรงงานนอกระบบและกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังเดินหน้าเสนอ ครม.ก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเอง เพราะบอร์ดได้แสดงจุดยืนแล้วว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนทั้ง 15 ล้านคน ที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันการว่างงาน ซึ่งในอนาคตหากตกงาน ควรมีโอกาสได้ใช้เงินที่จ่ายสมทบทุกเดือนด้วย หากเงินก้อนนี้หมดจะทำอย่างไร

“เงินกองนี้มี 1.6 แสนล้านบาท ควรใช้เมื่อลูกจ้างตกงาน หรือออกจากงานเพื่อประทังความเดือดร้อน 3-6 เดือน เราต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนที่เขาจ่ายเงินกันทุกเดือนด้วย ถ้าอนาคตถ้าเขาตกงาน ก็ควรมีสิทธิใช้เงินนี้ หากรัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างมากร้อยละ 62 ควรใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน” น.ส.อรุณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เคยแสดงจุดยืนแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะเกรงว่านายจ้างจะเลี่ยง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และโอนภาระให้กับกองทุนประกันสังคม ที่สำคัญยังไม่เห็นมีผู้ประกันตนร้องเรียนว่า ได้รับเงินว่างงาน ร้อยละ 62 น้อยไป

Advertisement

ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้างว่าเงินที่ได้รับจากกรณีว่างงานของ สปส.ร้อยละ 62 ต่ำกว่าการได้รับจากเหตุสุดวิสัยและต้องหยุดงาน ที่นายจ้างต้องจ่ายให้ร้อยละ 75 ดังนั้น ควรจ่ายให้ได้เท่ากับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการจ่ายแค่ชั่วคราว ส่วนเรื่องเงินกองทุนว่างงานจะหมดหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรณีที่เกรงกันว่านายจ้างจะผลักภาระให้ สปส. หากไม่ใช่เหตุสุดวิสัยก็สามารถตรวจสอบกันได้

นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมบริหารโดยระบบไตรภาคี ที่ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในงานประกันสังคม ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการนอกเหนือจากมติบอร์ด และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกองทุนประกันการว่างงาน 1.6 แสนล้านบาท มีเจตนาดูแลลูกจ้างที่ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่กลุ่มลูกจ้างที่ถูกปิดงานชั่วคราวจากเรื่องโควิด-19 และการสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราวเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image