ตื่นเต้น! พบเต่าตนุ วางไข่ หน้าอ่าวบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 99 ฟอง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับแจ้งข่าวจากเครือข่ายเฝ้าระวังชายหาด(ชาวมอร์แกน) ว่าพบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ บริเวณอ่าวบอน จึงเข้าไปตรวจสอบ พบไข่เต่าตนุ จำนวน 99 ฟอง จึงได้ประสานมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว พร้อมศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต มาตรวจสอบและมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นสินน้ำใจให้กับผู้พบและแจ้งข่าวจำนวน 2,000 บาท ในเบื้องต้น พร้อมทั้งได้ร่วมกันทำรั้วกั้นรอบรังเต่าทะเลเพื่อป้องกันสัตว์ป่าขุดคุ้ย เพื่อกินไข่

สำหรับ เต่าตนุ เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ โดยมีความยาวตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 130 กิโลกรัม หัวป้อมสั้น ปากสั้น เกล็ดเรียงต่อกันโดยไม่ซ้อนกัน กระดองหลังโค้งนูนเล็กน้อย บริเวณกลางหลังเป็นแนวนูนเกือบเป็นสัน ท้องแบนราบขาทั้ง 4 แบน เป็นใบพาย ขาคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าขาคู่หน้ามาก ขาคู่หน้ามีเล็บแหลมเพียงข้างละชิ้น สีของกระดองดูเผิน ๆ มีเพียงสีน้ำตาลแดงเท่านั้น แต่ถ้าหากพิจารณาให้ละเอียด จะพบว่าเกล็ดแต่ละเกล็ดของกระดองหลังมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ขอบเกล็ดมีสีอ่อน ๆ เป็นรอยด่างและมีลายเป็นเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล คล้ายกับแสงของพระอาทิตย์ที่ลอดออกจากเมฆ จึงมีชื่อเรียกเต่าชนิดนี้ว่าอีกชื่อหนึ่งว่า “เต่าแสงอาทิตย์” ขณะที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “เต่าเขียว” อันเนื่องจากมีกระดองเหลือบสีเขียวนั่นเอง
พบกระจายพันธุ์ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ในน่านน้ำไทยพบทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นับเป็นเต่าทะเลชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในน่านน้ำไทย โดยมักพบในเขตที่มีอุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างอุ่น คือ สูงกว่า 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป

เต่าตนุเป็นเต่าที่กินทั้งพืชและสัตว์ แต่จะกินพืชเป็นหลัก โดยกินอาหารจำพวก หญ้าทะเลหรือสาหร่ายทะเล โดยมีสัตว์น้ำขนาดเล็กทั่วไป เช่น ปลาหรือแมงกะพรุน เป็นอาหารรองลงไป โตเต็มที่เมื่ออายุได้ 4-7 ปี เชื่อว่าอายุยืนถึง 80 ปี ฤดูวางไข่ตกอยู่ในราวเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายนในบริเวณอ่าวไทยและอยู่ในราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในทะเลอันดามัน จำนวนไข่ต่อครั้งมีตั้งแต่ 70-150 ฟอง เต่าขนาดโตเต็มที่แล้วจะว่ายน้ำหากินไปเรื่อย ๆ แต่จะกลับมาวางไข่บนชายหาดที่ถือกำเนิด เป็นเต่าที่มักพบในเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งหรือตามเกาะต่าง ๆ สำหรับในน่านน้ำไทย พบเต่าชนิดนี้ขึ้นวางไข่มากที่เกาะครามและเกาะกระในอ่าวไทย และทางฝั่งทะเลอันดามันพบวางไข่มากที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา บนชายหาดและเกาะหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา

ในอดีต นิยมใช้เนื้อและไข่เพื่อการบริโภค กระดองใช้ทำเครื่องประดับ โดยเนื้อมีรสชาติอร่อยและมีไขมันสีเขียวจำนวนมาก และไข่ของเต่าตนุ เรียกในภาษาไทยว่า “ไข่จะละเม็ด” จึงทำให้เต่าชนิดนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าเต่าจะละเม็ดด้วย ทั้งนี้เต่าตนุ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image