ชาวต่างชาติมองรถเมล์ไทย โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

ภาพประกอบบทความเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง (มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 มกราคม 2559)

คอลัมน์ โลกหมุนเร็ว

ภาพประกอบบทความเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง (มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 มกราคม 2559)
ภาพประกอบบทความเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง (มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 มกราคม 2559)

เป็นเรื่องบังเอิญที่ผู้เขียนยังเป็นคนทำงานอยู่ จึงไม่ค่อยใช้บริการรถประจำทางนัก เพราะเหตุว่ารถประจำทางวางใจไม่ค่อยได้เรื่องเวลา

จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่นั่งระยะยาวก็คือไปแถวคลองจั่น ได้ไปยืนรอรถต้นทางอยู่ที่ห้วยขวาง รออยู่เกือบชั่วโมงก็ถอดใจ กวักมือเรียกแท็กซี่ไปให้รู้แล้วรู้รอด

ก็อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่มีสตางค์ซื้อรถขับก็ค่อยๆ ห่างเหินจากรถเมล์ เลยไม่รู้ทางหนีทีไล่ว่าจะนั่งรถเมล์ให้เวิร์กต้องทำอย่างไร

ชาวต่างชาติบางคนเสียอีก ปรับตัวเก่งชะมัด ใช้รถเมล์กันเป็นว่าเล่น

Advertisement

เช่น วันหนึ่งไปเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชันทางฝั่งธนฯ โน่น เรานี้ก็ขับรถไปเหน็ดเหนื่อยเพื่อจะไปกินขนมจีนน้ำพริกเจ้าอร่อยบนแพ ไปถึงกำลังจะจอดรถซึ่งก็ลำบากลำบนอีกเหมือนกัน ก็เหลือบไปเห็นแหม่มสาวสองนางก้าวอย่างกระฉับกระเฉงลงจากรถประจำทาง ถ้าจำไม่ผิดคงจะสาย 3

พอได้เวลากลับเราก็ขับรถออกจากที่จอดแบบทุลักทุเล ก็มาเจอะกับแหม่มทั้งคู่อีก คราวนี้คุณเธอกำลังขี้นรถเมล์กลับ

แหม่มพวกนี้ก็คงจะประหยัด คงจะมาไกล ถ้านั่งแท็กซี่ก็หลายสตางค์ นั่งรถเมล์แค่เก้าบาท แสนจะคุ้ม แถมได้ชมเมืองเสียอีก

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้นักหนังสือพิมพ์สัญชาติญี่ปุ่นคนหนึ่งก็เอาเรื่องรถเมล์ไทยไปเขียนลงในนิตยสารระดับโลก แฉซะเราคนไทยอ่านแล้วหน้าชา

เขาก็คงมาอยู่เมืองไทยและคงมีประสบการณ์ตรงกับรถเมล์ไทย และคงจะรู้สึกว่ารถเมล์ไทยนี่มันช่างอะเมซิ่งจริงหนอ

แต่เป็นความอะเมซิ่งในทางที่ไม่ดี ช่างตรงกันข้ามกับความเจริญในด้านอื่นๆ ของเรา เขาทึ่งก็เลยเอาไปเขียน

เขาอ้างบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ในปีหนึ่งๆ มีผู้โดยสารส่งจดหมายไปฟ้องกรมการขนส่งฯ เฉลี่ยแล้ววันละ 1 ฉบับ พูดง่ายๆ คือมีทุกวัน เรื่องที่ฟ้องก็ไม่พ้นเรื่องคนขับขับรถสวิงสวายเสี่ยงอันตราย และไม่ยอมจอดป้ายรับผู้โดยสาร รวมทั้งถ้าไปเจอรถติดมากๆ ก็ไล่ผู้โดยสารลงจากรถดื้อๆ

ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นเล่าถึงรถเมล์สาย 8 ซึ่ง “เขาบอก” ว่าเป็นสายที่เลวร้ายที่สุดในกรุงเทพฯ รถเมล์สายนี้ออกจากสะพานพุทธมุ่งหน้าไปยังบางกะปิ ระยะทางทั้งสิ้น 30 ก.ม. เขาบรรยายว่าแม้เดือนพฤศจิกายนจะเป็นฤดูหนาว แต่มันก็ร้อนตับแตกด้วยอุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส สภาพรถนั้นเก่าโทรม พื้นเป็นไม้ พัดลมเสียงดังอยู่บนเพดานไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนเท่าไหร่ ที่อะเมซิ่งก็คือรถแล่นตะบึงด้วยความเร็ว แต่ประตูรถตรงกลางคันรถยังเปิดอ้าซ่าอยู่

รถเมล์วิ่งตะบึงฝ่าการจราจร บางทีก็ข้ามสี่เลนไปจอดป้าย

และแล้วนักข่าวก็ได้เห็นกับตาว่าหญิงชราคนหนึ่งกำลังจะลงจากรถ เธอยังไม่ถึงพื้นถนน คนขับก็กระชากรถเมล์ออก เด็กกระเป๋าต้องตะโกนให้คนขับเหยียบเบรก

จากปี 2011-2013 อุบัติเหตุจากรถเมล์ไทยทำให้มีคนตาย 30 คน และบาดเจ็บ 100 คน เขาเอาข้อมูลนี้มาจากเว็บประชาไทย และนักข่าวบอกว่า คนจะอ้างว่าเป็นเพราะคนขับรถเมล์มีรายได้จากจำนวนผู้โดยสารและค่าโดยสารที่เก็บได้ในแต่ละวัน พวกเขาจึงต้องขับอย่างมุทะลุ ไม่หวั่นอุบัติเหตุใดๆ (ญาติผู้เขียนเป็นเจ้าของกิจการรถร่วมเคยเล่าให้ฟังว่าเดือนๆ หนึ่งเขามีค่าใช้จ่ายเรื่องการชดเชยคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถเมล์จำนวนหนึ่ง และต้องจ้างทนายไว้ทำการไกล่เกลี่ย)

นักข่าวญี่ปุ่นให้ข้อคิดว่าเพราะเมืองไทยยังไม่ได้พัฒนาเรื่องระบบขนส่งทางราง ผู้คนจึงยังต้องอยู่กับการโดยสารรถเมล์ต่อไป

เขาบอกว่าขณะนี้รัฐบาลไทยก็กำลังพยายามพัฒนาระบบขนส่งทางรางอยู่ และกำลังจะนำรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นเข้ามาใช้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นรถเมล์ไทยจะทำอย่างไรถ้าไม่ปรับตัว

เขาบอกว่ารถเมล์จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อต้องปรับปรุงตัวเอง ผู้เขียนลองสรุปดูว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงมากที่สุดก็คือมารยาทคนขับรถ ความปลอดภัย สภาพรถ และเวลาที่ผู้โดยสารต้องรอคอย

ถ้าจะถามผู้เขียนว่าให้เลือกอะไรอันดับหนึ่ง ก็ขอตอบว่า “เวลา”

ซึ่งนี่ก็อาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของผู้ใช้รถเมล์เป็นประจำก็ได้ เขาอาจไม่ต้องมีกิจกรรมที่แข่งกับเวลา คนที่ต้องแข่งกับเวลาก็เลือกที่จะขึ้นรถขนส่งระบบรางกันแล้ว

ผู้เขียนสังเกตว่าผู้โดยสารระบบรางทุกวันนี้ซึ่งหมายถึงรถบีทีเอสและรถใต้ดิน เห็นจากการแต่งตัวมีรายได้ระดับกลางล่างมากขึ้น แม้ค่าโดยสารจะแพง แต่เขาจำเป็นต้องจ่าย เพื่อแลกกับเวลาในการทำมาหากินที่ได้กลับคืนมา

ผู้เขียนมาลองคิดดูว่าการจะทำให้รถเมล์เป็นที่พึ่งของคนรายได้น้อย หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้แล้วแต่ยังต้องเดินทางจะทำอย่างไร เพราะถึงอย่างไรคนที่สะดวกจ่ายค่ารถเพียงเที่ยวละ 9 บาท ก็ยังมีอยู่ไม่น้อย และรถเมล์ก็ยังซอกแซกไปยังเป้าหมายที่รถขนส่งระบบรางไปไม่ถึง

อย่างเช่นสาย 8 ที่เริ่มจากสะพานพุทธไปบางกะปิ การปรับปรุงก็คงต้องเริ่มจากการวิจัย โดยให้คนที่จะวิจัยนั่งรถประจำทางดู และสัมภาษณ์ผู้โดยสาร ว่าเขาอยากให้ปรับปรุงในจุดไหน

อย่างเช่นเรื่องเวลา ก็อาจจะต้องศึกษาว่าการจราจรจุดไหน ช่วงไหนติดขัดและจะสามารถระบุเวลาที่รถจะจอดป้ายได้คร่าวๆ หรือไม่ ซึ่งหมายความว่าคนขับรถจะต้องควบคุมรถของเขาแบบสม่ำเสมอ ไม่ใช่แบบตามใจชอบ

สำหรับผู้ประกอบการ กิจการรถประจำทาง เป็นกิจการที่น่าปวดหัว มีเรื่องจุกจิกไปตั้งแต่การบริหารคนไปจนถึงการดูแลรถซึ่งมีอายุการใช้งาน การซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน

ญาติของผู้เขียนได้เลิกกิจการไปแล้วเพื่อทำอย่างอื่นที่เหนื่อยใจน้อยกว่าและผลตอบแทนดีกว่า

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่ารถประจำทางปัจจุบันนี้ผู้โดยสารลดน้อยลงกว่าเดิมมาก ไม่เคยเห็นผู้โดยสารห้อยอยู่ที่บันไดอย่างสมัยเป็นนักเรียนอีกแล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย แต่ในตัวรถก็ยังเห็นผู้โดยสารเบาบางมากอยู่ดีแม้ในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างตอนเช้า

ครั้งสุดท้ายที่นั่งรถประจำทางแบบชิลล์ๆ ไปเที่ยวสำเพ็งยังจำได้ดีว่าสนุกมากกับการนั่งดูสองข้างทาง และมีอารมณ์ร่วมกับเพื่อนผู้โดยสารคนอื่นๆ อารมณ์ของเราในตอนนั้นคือความไม่เร่งร้อน ไม่ถูกกดดันด้วยเวลา รถเมล์ก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

อนาคตรถเมล์ไทยจะมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ยากที่จะบอก สังคมจะเปลี่ยนไปเป็นการให้ความสำคัญกับระบบรางและปล่อยรถโดยสารให้อยู่อย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image