หมอยันไม่จำเป็นต้อง”ขยายเวลากักโรค 14 วัน”หากป่วยหลังจากออกสถานกักกันฯ

หมอยันไม่จำเป็นต้องขยายเวลากักโรค 14 วัน หากป่วยหลังจากออกสถานกักกันฯ เป็นเพราะติดเชื้อในชุมชน

กรณีที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 รายใหม่ ที่พบเป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) โดยเพิ่งตรวจพบเชื้อในวันที่ 14 ของการกักกันโรคฯ ซึ่งเป็นช่วงวันที่จะมีการปล่อยตัวให้กลับบ้าน โดยระบุว่าอาจจะต้องมีการขยายระยะเวลาที่กักกันโรคฯ ให้เป็น 21-28 วัน

วันที่ 27 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การแถลง ศบค.ดังกล่าว รายนั้นไม่ใช่ผู้ป่วยแต่เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และมาตรการในการกักกันโรคฯ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อในผู้ที่เข้ากักกันโรคฯ ในประมาณวันที่ 4-5 ที่เข้าสถานที่กักกันโรคฯ โดยในระหว่างที่กักกันโรคฯ หากพบอาการป่วยใด เช่น ไอ ไข้ มีน้ำมูก ก็จะทำการตรวจหาเชื้อทันที แต่ถ้าหากไม่มีอาการใด ก็จะทำการตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันที่จะปล่อยให้กลับบ้านได้ กรณีนี้ตรวจพบเชื้อในวันที่กำลังจะออกจากสถานกักกันโรคฯ ดังนั้นก็จะต้องนำเข้าสู่ระบบรักษาโรคและรักษาต่อไป

“หากวันสุดท้ายที่อยู่ในสถานกักกันโรคฯ มีการตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบ ก็คือไม่ได้เป็นการติดจากต่างประเทศ โดยเมื่อออกจากสถานกักกันโรคฯ แล้วก็จะเป็นคนปกติ แต่หากหลังจากที่ออกไปแล้วพบว่ามีการติดเชื้อในภายหลัง ก็จะเป็นการติดเชื้อในชุมชนที่จะอยู่ในระบบการเฝ้าระวังโรคที่ได้ค้นหาผู้ป่วย เพราะเมื่อออกจากที่กักกันโรคฯ ไปแล้วก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะไปติดเชื้อจากที่อื่นได้”นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าว ส่วนของการจะต้องปรับระยะเวลาในการกักกันโรคฯ ให้มากกว่า 14 วันนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ เนื่องจากทั่วโลกก็ใช้กำหนดระยะเวลานี้เป็นมาตรฐาน ขณะนี้ก็ยืนยันว่า ยังยึดหลักการกักกันโรคฯ ในสถานที่รัฐบาลจัดไว้เพียง 14 วันเช่นเดิม

Advertisement

“หากจะต้องขยายเวลา ต้องหาว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องทำ ดังนั้นการจะปรับเรื่องใดจะต้องดูหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ดูความเป็นไปได้ ไม่ใช่อาศัยเพียงความรู้สึก แล้วจะไปปรับนู้น ปรับนี่”นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image