ข้อเสนอปรับระบบบริการสาธารณสุข เพื่อรองรับความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

เราจะปรับระบบสุขภาพเพื่อรองรับความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างไร หัวข้อดังกล่าวแม้จะมองได้ว่าธรรมดา แต่โดยแท้จริงแล้วท้าทายอย่างยิ่ง และผมเชื่อว่ายากที่จะหาใครกล้ามาฟันธงตอบได้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มคำถามที่อ่อนไหว และเสี่ยงที่จะสร้างความไม่พอใจกับไม่ใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ดังนั้นตามธรรมชาติแล้วผู้ที่ได้รับการทาบทามให้ตอบคำถามดังกล่าวจึงมักจะเลี่ยงไม่ตอบ หรือตอบไม่ตรงคำถาม

องค์ประกอบของระบบสุขภาพ

การบริการสุขภาพของบ้านเรานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าสมองไหลจากภาครัฐไปภาคเอกชน ทั้งโดยตั้งใจหรือจำใจ และการจำกัดขอบเขตของเอกชนบางแห่งหรือหลายแห่ง บางเครือหรือหลายเครือ ที่มุ่งประกอบการดูแลลูกค้าพรีเมียม โดยเฉพาะต่างชาติ ท่ามกลางวิกฤตของระบบภาครัฐที่ยังมีบุคลากรสุขภาพไม่เพียงพอ แถมนโยบายรัฐยังสนับสนุนเต็มที่ที่จะถีบจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นจากการหากินกับบริการดูแลสุขภาพให้ต่างชาติ โดยมิได้มีกลไกรองรับความเสี่ยงจากนโยบายดังกล่าวอย่างเพียงพอ

ทำให้เราเห็นข่าวปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ที่มีโรคระบาดมากับนักท่องเที่ยวถึง 2 ครั้ง 2 คราว ระบบสาธารณสุขภาครัฐก็อ่วมอรทัยจากการทำงานตรวจสอบ ค้นหาคนที่มีโอกาสได้รับเชื้อโรค และใช้งบไปเป็นหลักร้อยล้านบาท (หากข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังมาไม่ผิดพลาด) จนนำมาซึ่งข้อเสนอที่ผมเคยเขียนลงสื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐพิจารณาสร้างกลไกจากการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าว ในลักษณะของการตั้งกองทุนขึ้นมา เงินที่ได้จากภาษีของธุรกิจนี้จะดูเล็กน้อยไปถนัดตา หากเกิดการระบาดของโรครุนแรง และในเมื่อไม่สามารถยับยั้งนโยบายเมดิคอลฮับได้ ดังนั้นรัฐจึงควรพิจารณาออกกฎหมายที่เรียกเก็บ “ค่ารักษาความมั่นคงทางสุขภาพของสาธารณะ” จากการประกอบกิจการของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เพื่อมาเป็นทุนสำรองภาครัฐสำหรับช่วยจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบายและการประกอบธุรกิจเหล่านั้นในสังคม

Advertisement

โดยปกติแล้วระบบสุขภาพจะทำหน้าที่ครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ, การควบคุมและป้องกันโรค, การดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสภาพ ทั้ง 4 เรื่องนั้นมีขอบเขตและเนื้อกิจกรรมมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐที่ต้องทำทุกอย่างให้ดีและครบถ้วนสมบูรณ์ สนองตอบต่อความต้องการจำเป็นของประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการเต็มที่ทั้ง 4 เรื่อง แต่เน้นเลือกให้บริการเฉพาะบางเรื่องที่ส่งผลประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ บางบริการที่ไม่มีกำไรหรือได้กำไรน้อยก็อาจลดสเกลการดำเนินงานลง หรือจัดเป็นกิจกรรมคืนกำไรสู่สังคมเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ ที่เรารับรู้กันว่าเป็นไปในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว

การจะดำเนินการทั้ง 4 เรื่องหลักของระบบสุขภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีการวางแผนจัดการระบบให้พร้อมที่จะทำงานได้ ถามว่าจะจัดการอย่างไรบ้าง องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อมูลไว้ว่ามีอยู่ 6 องค์ประกอบ ได้แก่ กำลังคนด้านสุขภาพ, ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ, ระบบเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์, การจัดรูปแบบบริการ, การจัดระบบบริหารจัดการ และกลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพ หากเราจะสรุปเป็นภาษาชาวบ้านๆ ก็คือมีทั้งเรื่องคน งาน เงิน วัสดุอุปกรณ์ ข้อมูล และระบบสั่งการนั่นเอง

ร่ายมายืดยาว…ตกลงอาจารย์จะตอบไหมว่าระบบสุขภาพไทยควรปรับอย่างไรเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน?

Advertisement

การจะตอบคำถามดังกล่าวได้ ต้องถามตัวเองให้ได้เสียก่อนว่ารู้หรือเปล่าว่าความต้องการของผู้ป่วยนั้นคืออะไร? ไม่ใช่แค่รู้ว่าอยากจะหายป่วย ซึ่งใครๆ ก็อยากหาย แต่ต้องลงรายละเอียดลึกเพียงพอ ที่จะเป็นข้อมูลสำหรับนำมาพัฒนามาตรการเพื่อปรับระบบบริการสุขภาพได้ด้วย เชื่อหรือไม่ว่าคำถามเรื่องความต้องการของผู้ป่วยนั้นถือเป็นยาขมอย่างยิ่งในระบบสุขภาพ เนื่องจากประชาชนมีความหลากหลาย และยังมีข้อมูลจำกัดมากจากงานศึกษาวิจัยเชิงวิชาการที่จะมาตอบเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะกองทุนไหนก็ตาม ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ หรือแม้แต่ประกันสังคม

ผมจะเล่าสาระบางส่วนที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพของไทยหลายเรื่องที่ได้ทำในช่วงที่ผ่านมาให้พวกเราได้ฟังกันประกอบการพิจารณาละกันนะครับ

จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์เชิงลึกกับประชาชนที่มีสิทธิการรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา ระหว่างปี พ.ศ.2558-2559 โดยมีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 3,000 คน พบสัจธรรมว่า คนเรานั้นหากเจ็บป่วยหนัก/รุนแรง ย่อมต้องการหาหมอที่ดีที่สุด ยาที่ดีที่สุด สถานที่ที่ดีที่สุด เท่าที่ทำได้ทั้งสิ้น

แต่ในสถานการณ์จริงหากมีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นการเงิน หรือการเดินทาง ก็ขอให้สามารถเข้าไปในสถานพยาบาลใดๆ ให้ได้เสียก่อนเพื่อรักษาชีวิตขั้นต้น ก่อนจะขยับย้ายไปที่ที่เหมาะสม ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ หากไม่ได้ป่วยหนักรุนแรง ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นยอมรับว่า พฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพเพื่อดูแลตนเองยามเจ็บป่วยนั้น เน้นการเข้าถึงบริการได้ง่าย ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน มากกว่าเรื่องการมีสิทธิใดเสียด้วยซ้ำ โดยมีข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ข้าราชการนั้นมีถึง 50% ที่ยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองในที่ที่ใกล้บ้านแม้จะเบิกไม่ได้ หรือไปรับบริการที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล (รพ.) เช่น คลินิก ร้านขายยา เป็นต้น

ในขณะที่คนที่มีสิทธิประกันสังคม แม้หลายคนจะประเมินว่าเศรษฐานะโดยรวมอาจด้อยกว่าข้าราชการ และน่าจะต้องอาศัยเรื่องการใช้สิทธิการรักษาของตนในระดับสูงมากๆ แต่จากการสำรวจจริงพบว่ามีถึง 40% ที่ยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองในลักษณะเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เราคงมีคำถามในใจว่า แล้วเราจะปรับระบบบริการสุขภาพในประเทศเราอย่างไรดี เพราะสถานบริการต่างๆ ในระบบสุขภาพของเรามีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่น คลินิก ร้านขายยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต. หรือเดิมรู้จักกันว่าคือสถานีอนามัย) ศูนย์บริการสาธารณสุข รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ จนถึงโรงเรียนแพทย์อย่างจุฬาฯ รามาฯ ศิริราช เป็นต้น

จากการวิจัยข้างต้น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างให้คำแนะนำคณะผู้วิจัยว่า คงจะดีมากเลยหากหาทางปรับระบบบริการระดับปฐมภูมิให้ดีขึ้น (หรือที่เป็นสถานบริการสุขภาพระดับเล็กๆ เช่น ร้านขายยา คลินิก รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือแม้แต่ รพ.ชุมชนขนาดเล็ก) จะได้ไม่ต้องไปแออัดยัดเยียดอยู่ตาม รพ.ใหญ่ๆ และโรงเรียนแพทย์ ดังที่เราหลับตาก็นึกภาพออกว่ามีคนเป็นร้อยเป็นพันคนไปอยู่ในที่เดียวกัน ไปวางบัตรตั้งแต่ตีสี่ตีห้า รอเจาะเลือด รอตรวจกับแพทย์ รอยา กว่าจะรอดออกจาก รพ.ก็ใช้เวลาไปครึ่งวัน ค่อนวัน หรือทั้งวัน

การจะปรับระบบบริการสุขภาพได้นั้น พวกเขายังแนะนำว่า ขอให้เน้นจัดระบบบริการในระดับปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพใน 6 เรื่องหลัก ได้แก่ การรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น หวัด ท้องเสีย ปวดโน่นปวดนี่ ฯลฯ การดูแลรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเล็กน้อย, การส่งเสริมสุขภาพ เช่น ฝากครรภ์ บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ ฯลฯ, การควบคุมป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน ฯลฯ การดูแลรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาเป็นระยะ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง ฯลฯ และการฟื้นฟูสภาพ/สมรรถนะ เช่น กายภาพบำบัด ฯลฯ การจะทำตามที่เสนอมานั้นได้ก็ต้องกลับไปดูว่าเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิเหล่านั้นมีองค์ประกอบต่างๆ ที่มีศักยภาพครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอไหมที่จะให้บริการทั้งหมด หรือสามารถให้บริการได้บางอย่าง แล้วสามารถมาแทคทีมกันทำงานดูแลประชาชนได้ภายในพื้นที่ต่างๆ

ในขณะที่ รพ.ใหญ่ เช่น รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ และโรงเรียนแพทย์นั้นควรจะปรับระบบบริการของตนเองอย่างไรบ้าง เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ คำถามนี้ตอบได้ค่อนข้างตรงไปตรงมา หลังจากที่ได้มีโอกาสไปนั่งคุยกับผู้บริหาร รพ.ใหญ่ และโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ทุกแห่งล้วนตอบไปในทิศทางเดียวกันจริงๆ คือ หากยึดตามภารกิจที่ รพ.ใหญ่ควรกระทำแล้ว ระบบบริการใน รพ.ใหญ่นั้นควรจะเน้นไปที่การพัฒนาระบบบริการให้มีศักยภาพในการดูแลรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน รับ-ส่งต่อเคสที่มีปัญหาจากเครือข่ายบริการขนาดเล็กกว่า และลงทุนศึกษาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพที่จะสามารถใช้ดูแลประชาชนชาวไทยได้ และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่มักมาจากการพึ่งพาเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพฝันดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริงดังที่หวังไว้ เนื่องจากปัจจัยบีบคั้นหลายประการ อาทิ ความคุ้นชินกับการใช้บริการของประชาชนที่นิยมมาที่ รพ.ใหญ่ อันเป็นผลจากความไม่พร้อมของเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ ระบบการเงินการคลังของแต่ละกองทุนสุขภาพที่เน้นการนำเม็ดเงินมาชี้นำระบบบริการในแต่ละที่มากกว่าที่จะออกแบบร่วมกันเพื่อให้เกิดรูปแบบบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของประชาชน ตลอดจนผลกระทบจากนโยบายสาธารณะของรัฐที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสมดุลชีวิตของบุคลากรจนไม่เอื้อต่อการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ในระบบ เป็นต้น

หนทางในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพไทยนั้นควรดำเนินไปในทิศทางต่อไปนี้

1.เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของระบบสุขภาพไทยต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนควรหารือกันเพื่อปรับระบบการเงินการคลังให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เพื่อลดภาระของสถานพยาบาลแต่ละระดับและของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับจัดระเบียบงบประมาณให้เอื้อต่อการสร้างความมั่นคงในวิชาชีพของบุคลากร และจัดสรรงบลงทุน ศึกษาวิจัย และพัฒนาระบบงานอย่างเพียงพอ

2.พัฒนาระบบเครือข่ายบริการในแต่ละพื้นที่ เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการจำเป็นของประชากร

3.สร้างนวัตกรรมบริการสุขภาพ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค ให้ทันต่อสมัย และตรงกับจริตที่เปลี่ยนไปของประชากรในสังคม โดยอาจสร้างภาคีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ต้องปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมบริการสุขภาพต่างๆ ข้างต้น

4.สะกิดพฤติกรรมของประชาชน ให้รู้เท่าทันและมีความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารในสังคมที่ไหลบ่าท่วมท้นจนแยกได้ยากว่าอะไรเท็จอะไรจริง และกระตุ้นให้ดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ใช้บริการทางการแพทย์ยามจำเป็น รับบริการสุขภาพที่จำเป็นให้ครบถ้วน เช่น วัคซีน ฝากครรภ์ พฤติกรรมบริโภค เป็นต้น

5.ระบบสุขภาพภาครัฐจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนามาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสมดุลชีวิตของบุคลากรทุกระดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image