ลูกช้างที่พลัดหลงสภาพแข็งแรง จนท.เตรียมปรับพฤติกรรมให้พร้อม ก่อนคืนโขลงที่ห้วยขาแข้ง

ปรับพฤติกรรมลูกช้างที่พลัดหลง ให้พร้อม ก่อนปล่อยคืนโขลงที่ ห้วยขาแข้ง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประชุมสรุปผลการดูแล และเตรียมดำเนินการปล่อยลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลงคืนป่า เพื่อรายงานความคืบหน้าการดูแลลูกช้าง รายงานผลการติดตามฝูงแม่ช้าง และมอบหมายภารกิจ การเตรียมการจะปล่อยลูกช้างคืนป่าให้กับเจ้าหน้าที่รับไปปฎิบัติ ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

โดยมี นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการ สบอ.12สำ เป็นประธานการประชุม มีนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า(ผู้แทน ผอ. สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า) ,ผอ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า, นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ ,หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง,หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง,หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ,หัวหน้าศูนย์ศึกษาพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่1(ภาคกลาง),ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร,นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ พร้อมทีมสัตวแพทย์ สบอ12 ,ทีมงานคชสารเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 20 คน เข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินงานและมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้

Advertisement

1.สุขภาพอนามัยและบาดแผลขาหน้าด้านซ้ายของลูกช้าง

นสพ.ปิยะ เสรีรัตน์ นายสัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบดูแลลูกช้าง ยืนยันว่า ขณะนี้ลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และบาดแผลที่ขาหน้าด้านซ้ายไม่มีหนอง ไม่ติดเชื้อ มีเฉพาะบริเวณผิวด้านนอกเป็นรอยเล็กๆเท่านั้น จึงมีความเห็นว่า สุขภาพอนามัยของลูกช้างอยู่ในสภาพพร้อมปล่อยคืนป่าได้แล้ว โดยจะทำหนังสือบันทึกความเห็นเกี่ยวกับสุขภาพลูกช้างเสนอผู้บังคับบัญชาทราบเป็นทางการต่อไป

Advertisement

2.จุดจะปล่อยลูกช้างคืนป่า

นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และ นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่วมกันรายงานว่า จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน จำนวน 38 จุด พบฝูงช้างป่ากระจายออกหากินอยู่ในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งทุกวัน บางวันมีมากกว่า 19 ตัว คาดว่าจะเป็นฝูงช้างฝูงเดียวกับที่ลูกช้างพลัดหลง

ทั้งนี้จากการที่ได้นำขี้ลูกช้างพลัดหลง มากองไว้ในป่า ณ จุดพบฝูงช้างป่า ปรากฎว่า ฝูงช้างทั้ง 18 ตัว รวมตัวเดินวนรอบขี้ลูกช้างอย่างตั้งใจ

โดยจุดที่พบฝูงช้างป่าบ่อยและจำนวนมาก คือ พื้นที่แหล่งน้ำใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า และพื้นที่รอบหอดูสัตว์ป่าต้นผึ้ง จึงเสนอเลือก 2 จุด ดังกล่าวเป็นจุดเตรียมคอกปล่อยชั่วคราว

3.ให้ปรับพฤติกรรมของลูกช้างก่อนปล่อย

ที่ประชุม รับทราบถึงความพร้อมของลูกช้าง และความพร้อมของจุดปล่อย ตามข้อ 1 และข้อ 2 แต่เห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่สั่งการเน้นย้ำว่า การปล่อยลูกช้างคืนป่า ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ลูกช้าง และ เจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย จึงเห็นควรให้ปรับพฤติกรรมลูกช้าง ให้เป็นไปตามแนวทางการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ คือต้องมีการปรับพฤติกรรมลูกช้างให้มีความพร้อม และเป็นที่ยอมรับของฝูงช้างป่า เสียก่อน กล่าวคือ ให้สร้างคอกชั่วคราว ณ จุดที่จะปล่อย แล้วนำขี้ช้างฝูงในป่ามาวางกองไว้ ในคอก จากนั้นเฝ้าดูพฤติกรรม อย่างน้อย 3 วัน หากฝูงช้างป่าไม่ทำลายคอก ให้นำขี้ของลูกช้าง ไปใส่ในคอก เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงช้างอีกอย่างน้อย 3 วัน หากมีพฤติกรรมรับ แล้วจึงจะเคลื่อนย้ายลูกช้างจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลลูกช้างอยู่ในขณะนี้ ไปยังคอกที่เตรียมไว้ แล้วเฝ้าดูพฤติกรรมการรับของฝูงช้างป่า และเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ลูกช้าง จนกว่าฝูงแม่ช้างจะมารับไป

4.แผนการปฎิบัติการเตรียมปล่อยลูกช้าง

ในวันที่ 6 มิถุนายน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะเริ่มเข้าไป จัดทำคอกปล่อยชั่วคราว ขนาด 9×9 เมตร ด้วยไม้ไผ่ ให้กลมกลืนธรรมขาติ จำนวน 2 คอก/จุด จากนั้น
สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำและศูนย์ศึกษาพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่1(ภาคกลาง)จะเข้าติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ แล้วดำเนินการเฝ้าติดตาม และเตรียมการอื่นๆ จนสามารถปล่อยลูกช้างคืนป่าหาแม่ได้อย่างปลอดภัย ต่อไป

5.ผลการประชุมโดยสรุป
5.1 สุขภาพอนามัยของลูกช้างพลัดหลง แข็งแรง สมบูรณ์ ดีมาก พร้อมปล่อยคืนป่าได้แล้ว
5.2 สถานที่จะปล่อย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เลือกจุดที่เหมาะสมสำหรับการจะปล่อยลูกช้าง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของช้างฝูงแม่ ไว้แล้ว
5.3 วันเวลาที่จะปล่อย วันที่ 6 มิถุนายน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะเริ่มลงมือเตรียมคอกชั่วคราว จากนั้นจะนำขี้ของช้างฝูงแม่มาใส่ไว้ เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของช้างฝูงแม่ อย่างน้อย 3 วัน หากไม่มีพฤติกรรมทำลายคอก จะนำขี้ของลูกช้าง ไปใส่ในคอก เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงช้างอีกอย่างน้อย 3 วัน หากมีพฤติกรรมรับ แล้วจึงจะเคลื่อนย้ายลูกช้างจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปยังคอกที่เตรียมไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 6 วัน จึงจะเคลื่อนย้ายลูกช้างไปยังจุดปล่อยได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image