พิษโควิด ‘เยียวยาถ้วนหน้า’ ไม่ลืมกลุ่มคนเปราะบาง เสียงภาคประชาสังคม

พิษโควิด ‘เยียวยาถ้วนหน้า’ ไม่ลืมกลุ่มคนเปราะบาง เสียงภาคประชาสังคม

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” จะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว รัฐบาลสั่งยกเลิกเคอร์ฟิว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบนิวนอร์มอล ดำเนินชีวิตแบบการ์ดไม่ตก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคร้ายนี้ได้สร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทั้งโลกไปอย่างมาก ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) จึงได้จัดเวทีเสวนา “จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม” ที่เดอะฮอลล์ วิภาวดีรังสิต 64

วิกฤตใหญ่หนักสุดในรอบ 90 ปี

วงเสวนา เปิดเวทีด้วย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มาเปิดเผยถึงผลกระทบของโควิด-19 ว่า โควิดนั้น ได้สร้างผลกระทบต่อเราหลายอย่าง ทั้งเรื่องสุขภาพ และเศรษฐกิจ ที่หนักสุดตั้งแต่การถดถอยของเศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี 1930 ปัญหาที่ตามมาอีกคือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมา คนจนติดเชื้อมากและตายมากกว่า เพราะการรักษาระยะห่างเป็นความฟุ่มเฟือย ประเมินว่าโควิดจะส่งผลกระทบไปอีกราว 2 ปี เราจึงต้องระวังไม่ให้เกิดการระบาดระลอกที่ 2 เพราะทรัพยากรที่มีอาจไม่พอ นอกจากนี้ การเยียวยาของรัฐควรจะต้องส่งเงินให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วย


กระทบหนัก ‘แรงงาน’

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เผยว่า เมื่อปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เรามีคนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดล้านกว่าคน ขณะที่โควิด คนเดินทางกลับ 5.6 ล้านคน นี่สะท้อนว่าคนตกงานมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ซึ่งนี่อาจจะเป็นแค่ตัวเลขขั้นต่ำ นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมาก เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ น่าแปลกว่าการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ เราใช้การกระจายอำนาจ ผ่าน อสม. แต่พอเป็นด้านเศรษฐกิจกลับใช้วิธีรวมศูนย์ที่กระทรวงการคลัง ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นมีศักยภาพจะจัดการเรื่องนี้ได้

ADVERTISMENT

ขณะที่ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า แรงงานไทยได้รับผลกระทบจำนวนมาก สำหรับแรงงานในระบบ คนที่ยังไม่ผ่านช่วงทดลองงานถูกบอกเลิกจ้างจำนวนมาก โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากนี้ ยังมีการลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้รายได้ลดลง หลายคนที่ถูกเลิกจ้างก็เรียกร้องอะไรไม่ได้เพราะไม่มีสหภาพแรงงาน และยังมีแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เงิน 5,000 บาทอีก คนเหล่านี้เป็นแรงงานที่ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ตกหล่นเมื่อมีการแจกถุงยังชีพ ยังไม่รวมผลทางสังคม เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงที่เป็นไกด์ต้องไปก่อสร้าง มีความสุ่มเสี่ยงมาก หรือผู้หญิงที่ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์เพราะกลัวติดเชื้อจนต้องถูกสามีทำร้าย ภาวะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ผู้ปกครองหลายคนยอมรับว่า อาจต้องนำเด็กออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ขณะที่คนที่เดินทางกลับไปต่างจังหวัด ก็จะไปแย่งชิงทรัพยากรทั้งที่นา น้ำ อีกด้วย

เด็ก กลุ่มเสี่ยงละเลยไม่ได้

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เผยว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนัก ผู้หญิงท้องหลายคนถูกให้ออก ในแง่ของเด็กเอง มีคนเข้ามาขอนมผงให้ลูก ขออาหาร ซึ่งปรากฏการณ์ไม่เคยมี คนจนเกิดขึ้นเยอะมาก อย่างเช่น คนที่เคยขายของที่หัวลำโพง เมื่อรถไฟไม่วิ่งก็ไม่มีรายได้ เด็กเล็ก 4-6 แสนคน ต้องเผชิญกับภาวะ ขาดสารอาหาร เพราะไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้กินอาหารกลางวันหรือดื่มนมโรงเรียน ขณะที่เด็กโต ต้องอยู่กับโทรศัพท์ 5-7 ชั่วโมงต่อวัน จากการเรียนออนไลน์ ทำให้เสียสุขภาพและเกิดความเหนื่อยล้า ยังไม่รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่พ่อแม่ต้องไปผ่อนสินค้าเพื่อให้ลูกได้มีเรียนเหมือนคนอื่น

ADVERTISMENT

ส่วนปัญหาของผู้บริโภคต่างๆ นั้น สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า ในช่วงโควิด 3 อันดับแรกที่มูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนคือ 1.ปัญหาการขายของออนไลน์ โดยเฉพาะกับที่นอนยางพารา ที่มิจฉาชีพได้เงินไปมากกว่า 2 แสนบาท 2.ปัญหาการเรียกคืนตั๋วเครื่องบินต่างๆ และ 3.หนี้สิน ที่ผ่อนไม่ได้ ต้องออกจากหอพักต่างๆ


ต้องเยียวยาจากล่างสู่บน

สารี เผยว่า การเยียวยาประชาชนนั้น ต้องทำแบบถ้วนหน้า คิดโครงการจากข้างล่างขึ้นมา เพราะคนเดือดร้อนไม่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมา เราเคยเยียวยาถ้วนหน้าผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ที่เป็นโครงการที่เป็นความต้องการของชุมชน และโมเดลของกองทุนหมู่บ้าน

“3-4 เรื่องที่ควรทำจากนี้ คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร, ความมั่นคงในการใช้ชีวิต ควรจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันรัฐจ่ายเงินบำนาญราชการมากกว่าเบี้ยผู้สูงอายุถึง 3 เท่า จึงควรมีหลักบำนาญถ้วนหน้า ตัดงบจากส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นมา, การคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบาง, กำหนดกลไกการใช้เงินอย่างชัดเจน ในระดับหมู่บ้าน และมีสภาผู้บริโภคจังหวัดขึ้นมา” สารีเผย

วิฑูรย์เผยว่า จากกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ออกมานั้น แบ่งออกเป็นการลงทุนฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน กระตุ้นการบริโภค และโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะไปทางไหน มองว่าการเกษตรแบบผสมผสาน การผลิตอาหาร นับเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรองรับคนที่จะตกงานเดินทางกลับบ้าน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต้องไม่ใช่แค่ถนนและมอเตอร์เวย์ และควรแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อาจไม่ต้องเป็นโครงการใหม่ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เห็นแล้วว่าชุมชนต้องการจริงๆ ส่วนการกระตุ้นการบริโภค ควรจะมุ่งไปที่ผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่ารายใหญ่ เพราะมีการจ้างงานมากกว่าถึง 10 เท่า และสนับสนุนให้มีคณะกรรมาธิการพิเศษตรวจสอบงบ และคณะกรรมการของชุมชน เพื่อตรวจสอบการทำงาน

ไม่ลืม’เยียวยา’คนเปราะบาง

จะเด็จ เผยว่า ในเฉพาะหน้านี้ เราควรต้องเยียวยาให้คนเข้าถึงอาหารทั้งหมดก่อน ให้กระจายไปครบทุกจุดอย่างไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานควรทำงานเชิงรุก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้าง แต่ไม่มีช่องทางในการร้องเรียน และมีการบรรเทาค่าใช้จ่าย เรื่องการศึกษาที่จะเปิดเทอมอีกไม่นานนี้ โดยควรให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะชุมชนจะรู้ว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ

ปิดท้ายที่ เชษฐา เผยว่า การเลิกจ้างของภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้เด็กในครอบครัวต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน รัฐต้องรองรับกลุ่มคนดังกล่าว ไม่ให้เขาหลุดออกนอกระบบ สำหรับการเรียนออนไลน์ นอกจากสนับสนุน ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ซึ่งต้องไปกู้ยืมเงินมาซื้ออุปกรณ์ให้ลูกเรียน ก็ต้องไม่ลืมปรับรูปแบบ เช่น ลดชั่วโมงเรียน เน้นการหาความรู้ในชุมชนต่างๆ บางชุมชนเปิดพื้นที่ให้เรียนแบบหนังกลางแปลง รักษาระยะห่าง ทั้งนี้ มองว่ารัฐสามารถเยียวยาเด็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าได้ ทุกวันนี้รัฐจ่ายเงินให้เด็ก 1.4 ล้านคน แต่มีเด็กอีก 2.8 ล้านคนที่หายไป ซึ่งรัฐสามารถลงทุนในจุดนี้ให้ถ้วนหน้าได้

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
จะเด็จ เชาวน์วิไล
จะเด็จ เชาวน์วิไล
เชษฐา มั่นคง
เชษฐา มั่นคง
 สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image