ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ หมอเด็กนักพันธุศาสตร์ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 2559

วันที่ 27 กรกฎาคม รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์และอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2559 ว่า การมอบรางวัลดังกล่าวมูลนิธิฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 34 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อันได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ให้ได้รับความสนใจและเกิดการกระตุ้นให้มีนักวิจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ได้รับรางวัล ซึ่ง ศ.นพ.วรศักดิ์ จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

ทั้งนี้ ศ.นพ.วรศักดิ์ เป็นผู้ผสานองค์ความรู้เทคนิคทางพันธุศาสตร์ในการไขข้อมูลพันธุกรรม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรไทยและเชื้อชาติอื่นๆ โดยมีผลงานต่างๆ มากมาย อาทิ การศึกษาชีววิทยาการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์และการศึกษาภาวะผิดปกติในผู้ป่วย ทำให้ค้นพบกลไกและกระบวนการในคนปกติ อาทิ ยีน MBTPS2 ซึ่งเป็นยีนของโรคกระดูกเปราะชนิดที่ถ่ายทอดทางโครโมโซมเอ็กซ์ ผลงานการศึกษาความ สัมพันธ์ระหว่างการแพ้ยากันชักกับยีน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางและมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ผลงานการศึกษาเกี่ยวกับความรู้และพฤติกรรมการรับประทานกรดโฟลิกก่อนปฏิสนธิเพื่อลดความพิการแต่กำเนิดของทารก รวมถึงการวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดด้วยการตรวจยีน ฯลฯ ซึ่งผลงานของ ศ.นพ.วรศักดิ์ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยพิการ อัตราป่วย และอัตราตายของผู้ป่วยโรคพันธุกรรม ความพิการแต่กำเนิด และปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในภาพรวมของประเทศ

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2559 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ 1.ผศ.การุณ ทองประจุแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงาน “จัดการอาหารสัตว์น้ำโดยใช้เทคโนโลยีของเอนไซม์ย่อยอาหาร” 2.ผศ.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน “เคมีคำนวณเพื่ออธิบายกลไกของปฏิกิริยาเคมีและชีวเคมี” 3.ผศ.ศิริลตา ยศแผ่น อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน “เรียนรู้การออกแบบกระบวนการการสังเคราะห์สารอินทรีย์…สู่การพัฒนานวัตกรรมการสังเคราะห์สารที่ยั่งยืน” และ 4. ผศ.อติพร แซ่อึ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน “การพัฒนาเทคนิคพื้นฐานด้านปรสิตวิทยาทางการแพทย์เพื่อการประยุกต์”

ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวว่า อาชีพหมอ คืออาชีพที่ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไข้ที่มาหาได้โดยวิธีใด เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลา และโดยหน้าที่ก็ต้องเอาคำถามนั้นมาหาคำตอบ มาศึกษาวิจัย เพื่อนำผลที่ได้นั้นไปแก้ปัญหาให้กับคนไข้และญาติ ทั้งนี้งานวิจัยของหมอทุกคนที่ออกมานั้น เวลาจะใช้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกที่สามารถนำไปใช้ได้

Advertisement

“จากการที่ผมต้องดูแลคนไข้ทุกวันทำให้เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผลการวิจัยที่ได้ย่อมสะท้อนกลับไป มีประโยชน์ต่อคนไข้และครอบครัว เช่น โรคที่เดิมใช้ลักษณะทางคลินิกเท่านั้นในการวินิจฉัย ในปัจจุบันงานวิจัยทำให้การวินิจฉัยโรคแน่ชัดได้ด้วยการตรวจยีน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแลคนไข้ ความรู้เหล่านี้ยังสามารถช่วยสมาชิกอื่นในครอบครัวได้ด้วย เช่น การวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยวิธีการอนูชีววิทยา ซึ่งในหลายโรคเป็นวิธีเดียว ที่สามารถใช้วินิจฉัยก่อนคลอดได้ งานวิจัยยังคงเป็นประโยชน์กับประเทศ ได้พบวิธีวินิจฉัยโรค ที่จะทำได้สะดวก และประหยัดในประชากรไทย เช่น พบการกลายพันธุ์ที่พบบ่อยในผู้ป่วยไทย ทำให้การวินิจฉัยทำได้โดยมุ่งศึกษาเฉพาะจุดของยีนใด ยีนหนึ่ง ไม่ต้องศึกษาทั้งยีน เป็นการนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย นอกจากนี้การลดจำนวนผู้ป่วยพิการ อัตราป่วย และอัตราการตายของผู้ป่วยโรคพันธูกรรม ความพิการแต่กำเนิด และปัญญาอ่อนก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในภาพรวมของประเทศ” ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าว

ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดถ่ายภาพร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image